5 วิธีแก้อาการ “เสียวฟัน” อย่างได้ผล

5 วิธีแก้อาการ “เสียวฟัน” อย่างได้ผล

5 วิธีแก้อาการ “เสียวฟัน” อย่างได้ผล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่ากันว่า “ฟัน” เป็นหนึ่งในอวัยวะที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะเจริญอาหารได้มากน้อยแค่ไหน เห็นจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะหากเรามีอาการผิดปกติที่ฟัน หรือไม่มีฟันที่แข็งแรงพอที่จะบดเคี้ยวอาหารได้ดีดังเดิม เราคงหมดความอยากอาหารไปเยอะเช่นกัน ยิ่งอาการเล็กๆ น้อยๆ แต่สร้างความลำบาก และรำคาญให้กับชีวิตอย่างอาการ “เสียวฟัน” ยิ่งทำให้เราที่อยากทานอาหารอร่อยๆ ต้องหมดอารมณ์ที่จะทานไปก็หลายครั้ง ดังนั้น Sanook! Health เรามีวิธีแก้อาการเสียวฟันอย่างถูกวิธีมาฝากกัน

 

5 วิธีแก้อาการ “เสียวฟัน” อย่างได้ผล

  1. แปรงฟันให้ถูกวิธี โดยแปรงจากโคนฟันไปทางปลายฟัน และแปรงทั้งด้านนอก และด้านในของฟัน แปรงฟันซี่ละ 4-5 ครั้ง และอย่าลืมสอดแปรงเข้าไปถึงฟันซี่ในสุดด้วย นอกจากนี้ควรใช้แปรงสีฟันขนอ่อน เพื่อลดอาการเหงือกร่น ซึ่งอาจเพิ่มอาการเสียวฟันให้มากขึ้นได้

    >> เช็กด่วน! คุณอาจกำลังแปรงฟันผิดวิธีมาตลอดชีวิต


  2. ควรเลือกทานอาหารที่มีรสชาติพอเหมาะ ไม่เปรี้ยวจี๊ดจ๊าดจนเกินไป รวมถึงอาหารที่ไม่แข็ง หรือเหนียวจนเกินไป เพราะอาจทำให้ฟันที่อาจจะไม่ค่อยแข็งแรงมากอยู่แล้ว เกิดการเสียหายมากขึ้น ทั้งจากอาหารรสเปรี้ยวที่เป็นกรดทำลายผิวเคลือบฟัน ที่อาจทำให้ฟันกร่อน หรือฟันผุได้ในเวลาต่อมา และการโยกคลอนของโคนฟัน และเหงือกจากการเคี้ยวอาหารที่เหนียวหรือแข็งเกินไป


  3. การใช้ยาสีฟันที่มีสารที่ลดการเสียวฟัน เช่น strontium chloride และ potassium nitrate ที่ทำหน้าที่อุดช่องเชื่อมต่อเล็กๆ ที่มีอยู่ระห่วางผิวฟันกับเส้นประสาทฟัน ทำให้เส้นประสาทมีความไวต่อการถูกกระตุ้นน้อยลง อย่างไรก็ตามสารเหล่านี้สามารถลดอาการเสียวฟันที่เกิดจากฟันสึกถึงเนื้อฟัน และฟันที่เหงือกร่นจนถึงเคลือบรากฟันได้เท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขอาการเสียวฟันที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคเหงือก หรือฟันผุได้ ซึ่งส่วนใหญ่อาการเสียวฟันมักมาจากเหตุผลทั้งสองอย่างหลังนี้


  4. การใช้เลเซอร์เพื่ออุดปิดท่อเนื้อฟัน หากอาการเสียวฟันมาจากอาการฟันสึก กร่อน โดยจะใช้เลเซอร์เพื่อกรอฟัน และอุดฟันด้วยเครื่องเลเซอร์ทางทันตกรรมหรือเออร์เบี่ยมแยคเลเซอร์ (Er-Yag Laser) ที่ทำให้เกิดเลือดออกน้อย และไม่รู้สึกร้อน หรือสะเทือนขณะกรอฟัน


  5. เคลือบฟันด้วยซีลแลนท์ (Sealant) เป็นการเคลือบฟันเพื่อป้องกันฟันผุและลดอาการเสียวฟัน ส่วนมากมักจะทำบริเวณฟันด้านบดเคี้ยวของฟันกราม สารซีลแลนท์มีลักษณะเป็นของเหลว และมีส่วนผสมของสารคลอเฮกซิดีน และสารอื่นๆ ที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน และยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อในช่องปาก ป้องกันคราบอาหารเกาะติดฟัน แต่ต้องเป็นฟันที่ไม่มีอาการผุ ถ้าพบว่าฟันผุจะต้องกรอและอุดฟันซี่นั้นเสียก่อน แล้วจึงทำการเคลือบฟันได้ แต่หากเคลือบฟันแล้ว ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกเดือน หรือทุกๆ สามเดือน เพราะมีโอกาสที่สารเคลือบฟันกร่อน หรือหลุดระหว่างใช้งานได้

 

อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการเสียวฟันที่ดีที่สุด คือการพบทันตแพทย์โดยตรง เพราะอาการเสียวฟันของแต่ละคนอาจมีความรุนแรงไม่เท่ากัน และมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเสียวฟันไม่เหมือนกัน ดังนั้นให้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดจะดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook