ทำไม? คนผอม ถึงเสี่ยงไขมันในเลือดสูงกว่าคนอ้วน?

ทำไม? คนผอม ถึงเสี่ยงไขมันในเลือดสูงกว่าคนอ้วน?

ทำไม? คนผอม ถึงเสี่ยงไขมันในเลือดสูงกว่าคนอ้วน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในทุกๆ ปี หลายบริษัท หรือหลายคนเลือกที่จะเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีตั้งแต่การตรวจเลือด ปัสสาวะ ไปจนถึงการตรวจร่างกายอื่นๆ เช่น ดวงตา ตรวจภายใน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่กำลังระบาดหนักอย่างไข้หวัดใหญ่ แต่สิ่งที่หลายคนกังวลหลังจากตรวจสุขภาพ น่าจะเป็นเรื่องของไขมันในเลือดสูง ที่เดินมาร้อยคนจะมีไขมันในเลือดสูงเกินมาตรฐานไปมากกว่าครึ่ง ที่น่ากลัวคือแม้แต่คนที่มีรูปร่างผอมบางมากๆ ยังมีชื่อติดอยู่ในลิสต์คนที่มีไขมันในเลือดสูงกับเขาด้วย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

>> จริงหรือไม่? คนผอมเพรียว ก็อาจมีไขมันในเลือดสูงได้?

ก่อนอื่นเรามาทำเข้าใจกับประเภทของไขมันที่อยู่ในร่างกายของเรากันก่อนดีกว่า

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ไขมันในร่างกายของเราแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง ไขมันในช่องท้อง และไขมันในเลือด

  1. ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง เป็นชั้นไขมันที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าจากรูปร่างอวบท้วม และไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ต้นแขน พุง สะโพก ต้นขา เป็นต้น โดยไขมันในส่วนนี้มาจากการสะสมของน้ำตาลที่แปรสภาพเป็นไขมัน แล้วไปเกาะอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง

ข้อดีของมันคือ เป็นไขมันที่ไม่ได้ส่งผลอันตรายอะไรกับร่างกายของเรามากนัก และสามารถกำจัดออกไปได้ง่ายๆ ด้วยการควบคุมอาหาร ลดการทานแป้ง และน้ำตาลลง แล้วออกกำลังเป็นประจำ

 

  1. ไขมันในช่องท้อง เป็นไขมันใต้ชั้นผิวหนังเหมือนกัน แต่เกิดจากอาหารประเภทไขมันที่เราทานเข้าไปแต่เราใช้พลังงานจากอาหารเหล่านั้นไม่หมด เลยมาเกาะสะสมอยู่ตามกล้ามเนื้อท้อง กับอวัยวะภายในช่องท้องโดยแทรกตัวอยู่ตามเนื้อเยื่อของเซลล์ต่างๆ มองจากภายนอกเราอาจจะเห็นแค่ว่ามีหน้าท้องที่ยื่นออกมา แต่หากอัลตร้าซาวนด์ดูจะพบว่าอวัยวะภายในท้องถูกห่อหุ้มด้วยถุงไขมันสีเหลือง

ไขมันในช่องท้องอันตรายมากเมื่อเทียบกับไขมันในส่วนอื่นๆ เพราะไขมันชนิดนี้สามารถสลายตัวกลายเป็นไขมันอิสระที่สามารถละลายเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไปสะสมตามอวัยวะอื่นๆ ต่อได้อีก เหมือนที่เคยได้ยินว่ามี ไขมันพอกตับ มันคือไขมันชนิดนี้นั่นเอง นอกจากนี้ไขมันในช่องท้องลักษณะอย่างนี้ เผาผลาญออกไปจากร่างกายได้ยากกว่าไขมันใต้ชั้นผิวหนังมาก หากปล่อยให้มีไขมันในช่องท้องมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้มีกรดไขมันอิสระในกระแสเลือดมากขึ้น เข้าไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง และเป็นต้นเหตุที่ตามมาอีกหลายๆ โรค

 

  1. ไขมันในเลือด ไขมันประเภทนี้ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เราจะทราบว่าเรามีไขมันในเลือดสูงหรือไม่ ก็ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น ไขมันเลือดเป็นไขมันที่อยู่รูปของไลโคปีน เป็นสารประกอบของไขมัน และโปรตีน ไขมันไลโปโปรตีนมีทั้งที่เป็น คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ฟอสโฟลิปิด และ กรดไขมันอิสระ

ไลโปโปรตีน แบ่งเป็น  3 กลุ่ม คือ

- แอลดีแอล (Low density lipoprotein – LDL) หรือที่หลายคนเรียกว่า ไขมันเลว ไขมันชนิดไม่ดี เพราะมีส่วนประกอบของคอลเสเตอรอลมากถึง 60% และหากมีไขมันชนิดนี้อยู่ในเลือดเยอะ จะส่งผลให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด ยิ่งใครที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

- วีแอลดีแอล (Very low density lipoprotein – VLDL) คือ ไลโปโปรตีนที่สร้างจากตับ ประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ 45-60% มีหน้าที่นำไตรกลีเซอไรด์ไปเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน หากมี VLDL ในเลือดสูง ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน

- เอชดีแอล (High density lipoprotein – HDL) เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย มีหน้าที่นำคอเลสเตอรอลที่สะสมตามผนังหลอดเลือดหรือที่เนื้อเยื่ออื่นๆ ไปทำลายที่ตับ ดังนั้นถ้าระดับ HDL ในเลือดสูง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้ค่า HDL ในเลือดเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย

 

ดังนั้น เวลาไปตรวจสุขภาพ อย่าลืมมองหาค่าไขมันในเลือด ในช่อง LDL, VLDL และ HDL โดยให้ค่าของ LDL น้อยๆ หรือไม่เกิน 130 มก./ดล. และค่า HDL มากๆ หรือไม่ต่ำกว่า 40 มก./ดล.

 

อย่างไรก็ตาม วิธีลดไขมันในช่องท้อง และไขมันในเลือด (ไขมันไม่ดี) คือการควบคุมอาหาร ลดอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลลง รวมถึงไขมันจากเนื้อสัตว์ เนยเทียม มาการีน ขนมเบเกอรี่ เนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม อาหารมันอาหารทอด เพิ่มการทานผักผลไม้ และธัญพืชต่างๆ รวมไปถึงเลือกทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำอย่าง ไก่ ปลา เลือกทานน้ำมันมะกอก ปลาทะเล และอย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเพิ่มระดับ HDL ในเลือดเพื่อให้เข้าไปช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดอีกทางหนึ่งด้วย

>> เคล็ดลับง่ายๆ ช่วยลด “ไขมันในเลือด” โดยไม่ต้องพึ่งยา

>> 5 สุดยอดอาหารลดไขมันในเลือด ลดเสี่ยงโรคหัวใจ-เบาหวาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook