สังเกต 9 อาการเข้าข่ายเป็น “โรคสมองเสื่อม”

สังเกต 9 อาการเข้าข่ายเป็น “โรคสมองเสื่อม”

สังเกต 9 อาการเข้าข่ายเป็น “โรคสมองเสื่อม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคสมองเสื่อม คือ อาการการทำงานของสมองในด้านความจำ ความคิด การใช้เหตุผล การใช้ภาษา และการรับรู้สิ่งแวดล้อมผิดปกติไป ทำให้เกิดปัญหาทางความคิด การตัดสินใจ พฤติกรรมและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตหรือการทำกิจวัตรประจำวัน จนในที่สุดผู้ป่วยหลายคน ก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีผู้ดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด

จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยการตรวจร่างกายครั้งล่าสุดในปี 2557 พบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 8.1 โดยคาดว่าในขณะนี้มีประมาณ 8 แสนกว่าคนทั่วประเทศ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม นอกจากเป็นเรื่องของความจำแล้ว ยังพบว่าร้อยละ 90 หรือประมาณ 7 แสนกว่าคนมีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจร่วมด้วย

 

สำรวจ 9 อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วย “โรคสมองเสื่อม”

1. เฉยเมย ไม่สนใจสิ่งรอบตัว สมาธิเริ่มสั้น มีอาการเหม่อลอย ขาดความกระตือรือร้นในสิ่งที่เคยชื่นชอบ ประมวลผลจากคำพูดของคนอื่นได้ช้าลง หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่คนอื่นสื่อสาร เสียความสามารถในการวางแผน หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน รู้สึกยากลำบากในการทำงานที่คุ้นเคย ความสามารถในการตัดสินใจลดลง

2. ภาวะซึมเศร้า รู้สึกด้อยค่า รู้สึกโดดเดี่ยว หมดศรัทธาในตัวเอง เริ่มนับถือตัวเองน้อยลง เศร้าหมองได้ง่าย รู้สึกผิดกับเรื่องเล็กน้อย ท้ายที่สุดคือทำร้ายตัวเองและอยากฆ่าตัวตาย แต่หากเทียบกับอาการซึมเศร้าที่เกิดในผู้ป่วยสมองเสื่อม ลักษณะการเกิดจะแสดงอาการบ่อยครั้ง แต่ไม่หนักหนาเท่ากับคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

3. หงุดหงิด โกรธง่าย หรือมีความแปรปรวนทางอารมณ์อยู่แล้ว เนื่องจากความรู้สึกของคนที่เคยคิดและตัดสินใจได้อย่างดี กลับต้องมาเกิดความบกพร่องบางอย่าง จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ง่ายดายเหมือนเดิม ก็อาจจะเกิดความตึงเครียด จนส่งผลให้มีอาการส่งเสียงดังด้วยความโกรธและเกรี้ยวกราด หรืออาจนิ่งเงียบไม่พูดไม่จาไปเลยก็ได้

4. มีปัญหาด้านการกินและนอน เช่น รู้สึกอุดอู้ อึดอัด เริ่มเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไร รู้สึกไม่หิวแม้ไม่ได้กินอะไรทั้งวัน นอนไม่หลับ นอนหลับยากขึ้น มีแสงหรือมีเสียงรบกวนนิดหน่อย ก็จะรู้สึกตัวง่ายแล้วก็มีอารมณ์หงุดหงิดทันที

5. ทำอะไรซ้ำๆ ถ้ามีอาการหลงลืมบ่อยขึ้นจนเกิดผลเสีย เช่น ของหายบ่อย ถามซ้ำๆ พูดย้ำข้อความเดิม จำเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้ สับสนเรื่องกาลเวลาและสถานที่ อ่านหนังสือลำบากขึ้น กะระยะทางยากขึ้น ผู้ป่วยส่วนมากมักจะจำไม่ได้ว่าตัวเองเคยลืมอะไร และคิดว่าตนเองเป็นปกติดี

6. หูแว่ว มีอาการได้ยินเสียงแปลก ๆ ที่คนอื่นไม่ได้ยิน แม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน เช่น ได้ยินเสียงคนร้องไห้ ได้ยินเสียงหัวเราะ โดยที่ไม่มีต้นเสียงที่แท้จริง

7. เรียกร้องความสนใจ เป็นปฏิกิริยาที่พยายามกระตุ้นตัวเอง เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวมากขึ้น เช่น การแต่งกายที่ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะอย่างรุนแรง ลุกเดินไปมาในยามวิกาล หรือมีความรู้สึกว่าต้องไป ต้องทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรหรือต้องการอะไรกันแน่ จึงออกมาในรูปแบบที่ว่าลุกเดินไปก่อน ทำหรือแสดงออกไปก่อน เป็นต้น

8. อาการหลงผิด เป็นความผิดปกติของระบบความคิด จุดเด่นของอาการกลุ่มนี้คือการมีความเชื่อที่ไม่เป็นจริง และไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น มีความเชื่อว่ามีคนปองร้ายอยู่ตลอดเวลา เชื่อว่ามีคนปลอมตัวมาเป็นญาติหรือเพื่อนของตน เชื่อว่ามีคนแปลกหน้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน เชื่อว่าสมบัติถูกขโมย หรือเชื่อว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรสนอกใจ เป็นต้น

9. ไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมได้ มีพฤติกรรมชอบกัด ข่วน เตะ ตี ทำลายข้าวของ ด่าทอ กรีดร้อง เป็นอาการที่เจอในผู้ป่วยสมองเสื่อมระดับรุนแรง เนื่องจากมีความเครียดและวิตกกังวลสูงมาก เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่าถูกล้ำเส้นความเป็นส่วนตัว ก็จะตอบโต้ด้วยความก้าวร้าวดังกล่าว หรืออีกอาการที่จะพบในผู้ป่วยสมองเสื่อม ก็คือไม่สามารถหักห้ามใจในอารมณ์ทางเพศได้ เช่น การอวดอวัยวะเพศของตนเอง การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองบ่อย ๆ พูดจาแทะโลมผู้อื่นไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ

หากคุณรู้สึกว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังที่กล่าวมา ควรไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook