ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก หนึ่งใน 7 โรคติดต่ออันตรายที่ไทยกำลังเฝ้าระวัง
ปัจจุบันระบบนิเวศวิทยาทั่วโลก เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื้อโรคมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด จึงมีความเสี่ยงที่อาจมีโรคติดต่อใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหลายโรค และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคติดต่อในปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อาศัย อำนาจตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้ออกประกาศชื่อโรคติดต่ออันตรายที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังรวมทั้งสิ้น 13 โรค หนึ่งในนั้นเป็นโรคที่คนไทยคุ้นหู แต่อาจจะไม่คุ้นเคยด้วยชื่อด้านหลังที่ตามมาด้วย นั่นคือ ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก คืออะไร?
โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean – Congo hemorrhagic fever : CCHF) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส tick-borne (Nairovirus) ตระกูล Bunyaviridae โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโกพบว่ามีการแพร่ระบาดได้ในแอฟริกา แถบคาบสมุทรบอลข่าน (ส่วนของตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป) ตะวันออกกลาง และเอเชีย
การติดต่อของโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
- การถูกเห็บที่มีเชื้อกัด
- สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ
- สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของคนป่วย
อาการของโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
ไข้เฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บตา ใบหน้าแดง และกลัวแสง บางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงและปวดท้อง
ต่อมาจะมีอารมณ์แปรปรวน สับสน และก้าวร้าว จากนั้นอาจมีอาการง่วง ซึมเศร้า หัวใจเต้นเร็ว ต่อมน้ำเหลืองโต มีเลือดออกใต้ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ และพบเลือดออกจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร มีเลือดปนในปัสสาวะ มีเลือดกำเดา และเลือดออกจากเหงือก ในบางรายอาจพบอาการของตับอักเสบ
ความอันตรายของโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก มีอัตราป่วยตายร้อยละ 30-40 จากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด
การป้องกันโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
การป้องกันโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโกทำได้โดย ระมัดระวังไม่ให้โดนเห็บ หรือหมัดกัด หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของโรค และหากมีไข้เฉียบพลัน เจ็บตา หน้าแดง คลื่นไส้ ท้องร่วง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด