9 โรคที่อาจตามมาหากเรา “อ้วนลงพุง”
โรคร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา มีทั้งโรคที่มาจากกรรมพันธุ์ และโรคที่มาจากวิถีชีวิตของเราที่ไม่ดูแลสุขภาพให้ดีมากพอ และร้อยทั้งร้อยก็เกิดขึ้นจากการอาหารการกินที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการไม่มีเวลาออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อได้ทำงาน จนทำให้กลายเป็นโรคอ้วนตามมา นอกจากรูปร่างจะไม่ได้สัดส่วนแล้ว สิ่งที่อันตรายไปกว่านั้นก็คือโรคร้ายที่ตามมาอีกมากมายนี่แหละ
-
ไขมันพอกตับ
ไขมันที่พอกตับ เป็นไขมันประเภทที่อยู่ในช่องท้อง ที่เกิดจากอาหารประเภทไขมันที่เราทานเข้าไปแต่เราใช้พลังงานจากอาหารเหล่านั้นไม่หมด เลยมาเกาะสะสมอยู่ตามกล้ามเนื้อท้อง กับอวัยวะภายในช่องท้องโดยแทรกตัวอยู่ตามเนื้อเยื่อของเซลล์ต่างๆ มองจากภายนอกเราอาจจะเห็นแค่ว่ามีหน้าท้องที่ยื่นออกมา หรือที่เรียกว่าภาวะ “อ้วนลงพุง” นั่นเอง หากอัลตร้าซาวนด์ดูจะพบว่าอวัยวะภายในท้อง เช่น ตับ ถูกห่อหุ้มด้วยถุงไขมันสีเหลือง ซึ่งไขมันชนิดนี้อันตราย เพราะกำจัดได้ยาก ใช้เวลานาน และยังเสี่ยงกลายเป็นไขมันอิสระที่จะไหลไปตามกระแสเลือด ก่อโรคอื่นๆ ตามมาได้อีก
-
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน หรือแข็ง
เมื่อไขมันอิสระไหลไปตามกระแสเลือด ไปจนถึงหัวใจ ไขมันอาจไปเกาะตามผนังหลอดเลือดของหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบลง หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดเข้าออก จึงเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายได้
-
โรคเบาหวาน
แม้ว่าสาเหตุใหญ่ของโรคเบาหวานจะมาจากกรรมพันธุ์ หากแต่ถ้าเราอ้วนกว่ามาตรฐานปกติ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะการที่เป็นโรคอ้วน จะเสี่ยงต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นไปด้วย
-
โรคความดันโลหิตสูง
ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีความดันโลหิตสูง จะเป็นผู้ที่มีน้ำหลักตัวมากกว่ามาตรฐาน เพราะภาวะไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป จะทำให้การทำงานของความดันโลหิตแย่ลง ซึ่งความดันโลหิตสูงเองก็เป็นสาเหตุของโรคอันตรายๆ อีกหลายๆ โรคเช่นกัน
-
โรคนิ่วในถุงน้ำดี
การรับประทานอาหารที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลมากเกินไป จะทำให้เสี่ยงต่อการที่มีคอเลสเตอรอลบางส่วนหลงค้างอยู่ในถุงน้ำดี (ที่ผลิตน้ำดีออกมาย่อยไขมัน) จนกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีในเวลาต่อมาได้
-
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
เรื่องของรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไปหลังจากอ้วนขึ้น ก็ส่งผลต่อสุขภาพได้ เมื่ออ้วนขึ้นจนโครงสร้างของใบหน้าเปลี่ยนไป โดยมีลักษณะคางที่สั้นขึ้น ส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนต้นบริเวณโคนลิ้นและเพดานปากหย่อนลง และตกลงไปปิดกั้นทางเดินหายใจ นอกจากจะทำให้ส่งเสียงกรนขณะนอนหลับได้แล้ว โคนลิ้นจะตกไปกั้นทางเดินของอากาศที่อยู่ด้านหลังมากยิ่งขึ้น ส่งผลสู่ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น และหยุดหายใจขณะหลับได้ (ซึ่งส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนต่ำ จนความดันโลหิตสูงขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจเสี่ยงขาดออกซิเจนได้อีกด้วย)
-
ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร
จริงๆ แล้วข้อเข่าของเรามีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน กว่าจะปวดเข่าก็ต้องรอไปจนกว่าผิวหนังจะเหี่ยว ผมจะกลายเป็นสีขาวทั้งศีรษะ แต่หากเป็นคนอ้วน น้ำหนักตัวจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ ส่งผลให้ปวดเข่า ออกกำลังกาย เดินเหินไม่สะดวกตั้งแต่อายุยังไม่เยอะ
-
มะเร็ง
ความอ้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งในบางส่วนของร่างกาย เช่น ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี ต่อมลูกหมาก เต้านม ปากมดลูก รังไข่ และปอดในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น
-
ติดเชื้อได้ง่าย
เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่โรค แต่เมื่อไรก็ตามที่คนอ้วนเข้ารับการผ่าตัด คนอ้วนจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้มากกว่าคนที่รูปร่างปกติ จนอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย
หากอยากทราบว่าเราอยู่ในเกณฑ์อ้วนมากกว่าปกติหรือไม่ ให้ลองคำนวณคร่าวๆ จากค่า BMI ดังนี้
สูตรคำนวณหาดัชนีมวลกาย
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร)²
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าคุณมีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม และสูง 155 ซม.
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 60 ÷ (1.55)² à 60 ÷ 2.4025
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 24.97
จากนั้นก็เช็กผลตัวเลขที่ตารางด้านล่าง
BMI kg/m2 | อยู่ในเกณฑ์ | ภาวะเสี่ยงต่อโรค |
น้อยกว่า 18.50 | น้ำหนักน้อย / ผอม | มากกว่าคนปกติ |
ระหว่าง 18.50 - 22.90 | ปกติ (สุขภาพดี) | เท่าคนปกติ |
ระหว่าง 23 - 24.90 | ท้วม / โรคอ้วนระดับ 1 | อันตรายระดับ 1 |
ระหว่าง 25 - 29.90 | ท้วม / โรคอ้วนระดับ 2 | อันตรายระดับ 2 |
มากกว่า 30 | อ้วนมาก / โรคอ้วนระดับ 3 | อันตรายระดับ 3 |
Credit: กองออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
หากคุณอยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อโรคระดับที่ 1, 2 และ 3 ควรควบคุมอาหารโดยลดแป้ง และน้ำตาล ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น และออกกำลังกายเพื่อการลดน้ำหนัก (เน้นคาร์ดิโอ) อย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป จะช่วยให้คุณลดน้ำหนักอย่างได้ผล และลดการเสี่ยงโรคต่างๆ ได้มากแน่นอน
>> 4 กุญแจสำคัญสู่การ “ลดน้ำหนัก” ให้ได้ผล