ผู้ป่วย “พยาธิใบไม้ตับ” ในไทยลดลง แต่ป่วยซ้ำจาก “ก้อยดิบ”
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรมประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งแจ้งรายงานผลการดำเนินงานแผนยุทธศาสตร์กำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าปลาที่เลี้ยงมีการติดพยาธิใบไม้ตับลดลงจากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 14-20 ประชาชนติดพยาธิใบไม้ตับลดลง จากร้อยละ 17 เหลือร้อยละ 8
>> พยาธิใบไม้ตับ ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจากพยาธิใบไม้ตับในไทยจะลดลงแล้ว แต่ยังพบปัญหาผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำ นางอัมพร จันทวิบูลย์ ผอ.สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำคู่มือวิชาการในการกินปลาร้าอย่างปลอดภัยไปแล้ว โดยหากผ่านการหมักมากกว่า 1 เดือนขึ้นไปและผ่านกระบวนการการปรุงต้มจะมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามปัญหาคือยังมีผู้ป่วยกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งเมื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้เกิดจากปลาร้า แต่เกิดจากวัฒนธรรมกินเมนูปลาดิบๆ เช่น ก้อยปลาดิบ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการศึกษาและทำข้อมูลเสริมให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
>> “ปลาร้า” แบบไหน ปลอดภัย ไม่เสี่ยงอาหารเป็นพิษ-ท้องร่วง
พยาธิใบไม้ตับ
ผศ.นพ.โกศล รุ่งเรืองชัย ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลโรคพยาธิใบไม้ตับ มีสาเหตุมาจากพยาธิที่มีรูปร่างแบนคล้ายใบไม้ โดยมีส่วนหัวและส่วนท้ายของลำตัวเรียวมน พบได้ทั้งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือของไทย และประเทศลาวในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง
อาหารก่อโรคพยาธิใบไม้ตับ
ส่วนใหญ่เป็นอาหารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประชาชนนิยมกินอาหารที่ทำจากปลาที่ปรุงไม่สุก เช่น ก้อยปลา ปลาสด ปลาส้ม ปลาจ่อม หม่ำปลา ปลาหมกไฟ ปลาปิ้ง ลาบปลา ปลาร้า แจ่วบอง เป็นต้น
อันตรายของพยาธิใบไม้ตับ
หากพบตัวอ่อนของพยาธิระยะติดต่อยังมีชีวิตอยู่ในปลาดิบนั้นๆ พยาธิอาจเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวเต็มวัยในท่อน้ำดีภายในตับได้ นอกจากนี้พยาธิใบไม้ตับยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งของท่อน้ำดีอีกด้วย
การป้องกันพยาธิใบไม้ตับ
การป้องกันพยาธิใบไม้ตับ ทำได้โดยเลิกกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด แบบดิบหรือปรุงไม่สุก และควรขับถ่ายในส้วมให้ถูกสุขลักษณะ เพราะถ้าถ่ายไม่ถูกที่ ของเสียที่ลงสู่แม่น้ำลำคลองก็จะทำให้ไข่ของพยาธิใบไม้ตับมีโอกาสแพร่กระจายเข้าสู่หอยน้ำจืด ซึ่งเป็นพาหะที่ 1 ของพยาธิใบไม้ตับได้