ขาดอากาศหายใจ ขาดน้ำ ขาดอาหาร เราจะอยู่ได้นานเท่าไร?

ขาดอากาศหายใจ ขาดน้ำ ขาดอาหาร เราจะอยู่ได้นานเท่าไร?

ขาดอากาศหายใจ ขาดน้ำ ขาดอาหาร เราจะอยู่ได้นานเท่าไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม หรือเป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมในละคร หรือภาพยนตร์ เราอาจจะเคยเห็น หรือได้ยินเรื่องของคนที่โดนอดข้าวอดน้ำเป็นเวลานานจนผ่ายผอม หรือบางรายอาจไปจนถึงเสียชีวิต อันที่จริงแล้วหากเราขาดอากาศ ขาดน้ำ ขาดอาหาร จะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง และเราจะอยู่ได้นานเท่าไร Sanook! Health มีคำตอบมาฝากกัน

>> เกาะติด “ข่าวถ้ำหลวง” ภารกิจค้นหานักบอลและโค้ช 13 คน

 

ขาดอากาศหายใจ

ขาดอะไรก็ขาดได้ แต่อย่าขาดอากาศหายใจ หากเมื่อไรที่ขาดออกซิเจนเพื่อใช้ในการหายใจ เพียงแค่ 4 นาที ก็ทำให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน หรือสมองพร่องออกซิเจน จนทำให้เซลล์สมองตาย เกิดความพิการทางสมอง จนทำให้การทำงานของสมองผิดปกติไปตลอดชีวิตได้

การขาดอากาศหายใจอาจมีตั้งแต่การจมน้ำ สำลักอาหาร การถูกฆาตกรรมด้วยวิธีต่างๆ เช่น บีบคอ รัดคอ การฆ่าตัวตาย เช่น ผูกคอ นอนรมควันจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ การถูกอัดไปอยู่ในที่แคบๆ ไม่มีอากาศถ่ายเท ไปจนถึงอาการข้างเคียงของโรคต่างๆ เช่น โรคหืดหอบ ระบบหายใจล้มเหลว ระบบทางประสาทจากบางโรคล้มเหลว (เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส) ภาวะชัก หัวใจหยุดเต้นจากโรคหัวใจ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเวลานาน สมองขาดเลือดมาเลี้ยงทั้งสมอง หรือการได้รับสารพิษเกินขนาด เป็นต้น

นอกจากนี้ การอยู่ในที่ที่มีออกซิเจนต่ำ ก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ต่อร่างกายได้เช่นกัน เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หมดสติ จนกระทั่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 5 นาที ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่คับแคบแออัด หากเริ่มรู้สึกวิงเวียนศีรษะให้รีบพาตัวออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว แล้วหาที่กลางแจ้งเพื่อสูดอากาศหายใจเข้าไปในปอดอีกครั้งอย่างเร็วที่สุด

 

ขาดน้ำ

ว่ากันว่า น้ำสำคัญกว่าอาหาร เพราะหากขาดอาหารยังมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าขาดน้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะศาสตราจารย์ Randall K. Packer ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย George Washington ระบุว่า ขีดจำกัดสูงสุดของมนุษย์ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ได้ดื่มน้ำ อยู่ที่ราว 1 สัปดาห์ หรืออาจแค่ 3-4 วันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนอาศัยอยู่ และระยะเวลาที่พวกเขาไม่ได้รับน้ำกับอาหาร

นอกจากนี้ Dr. Claude Piantadosi อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Duke ระบุว่า เราสามารถอยู่ในที่กลางแจ้งในอุณหภูมิปกติได้ราว 100 ชั่วโมง หรือ 4 วันนิดๆ โดยไม่ต้องดื่มน้ำ ถ้าอากาศเย็นกว่าปกติก็จะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น แต่ถ้าอากาศร้อนหรือโดนแสงแดดโดยตรง ระยะเวลาที่จะมีชีวิตรอดก็จะยิ่งสั้นลง

ตามปกติแล้ว คนเราจะสูญเสียน้ำออกไปจากร่างกายได้มากถึง 1-1.5 ลิตรต่อชั่วโมง ผ่านการปัสสาวะ เหงื่อ ท้องเสีย ท้องร่วง อาเจียน การทำงานของไตล้มเหลว หรือแม้กระทั่งการหายใจออก ดังนั้นหากเราไม่ดื่มน้ำเข้าไปทดแทนในจำนวนน้ำที่เราสูญเสียไป ของเหลวในร่างกายก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ปริมาณเลือดในร่างกายลดต่ำลงด้วย ยิ่งคนที่มีปริมาณเลือดในร่างกายน้อยกว่าคนอื่น หากเกิดความดันโลหิตต่ำลง อุณหภูมิในร่างกายมากขึ้น (แต่ไม่ระบายขับออกทางเหงื่อ) ก็จะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้เร็วขึ้นไปอีก

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มสะอาด น้ำจากอาหารที่ทาน เครื่องดื่มต่างๆ ผักผลไม้ที่มีน้ำ แต่อย่าดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด เพราะแอลกอฮอล์จะยิ่งทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำได้มากกว่าเดิม เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เราปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ จึงยิ่งเร่งให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น และเร็วขึ้นกว่าเดิม

>> 8 สัญญาณเตือนว่าคุณกำลัง “ดื่มน้ำน้อยเกินไป”

 

ขาดอาหาร

อาจจะนับว่าเป็นโชคดีที่คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องทานอาหารได้นานถึง 3 สัปดาห์ หรือหากมีร่างกายแข็งแรงเป็นทุนเดิม อาจอยู่ได้ถึง 1-1.5 เดือน เมื่อร่างกายของเราขาดอาหาร ร่างกายของเราจะพยายามเข้าสู่กระบวนการยื้อเวลาในการยืดชีวิต โดยพยายามดึงเอาพลังงานสำรองในร่างกายออกมาใช้

ในช่วงเวลาปกติ ร่างกายจะดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมาเป็นพลังงานในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเป็นพลังงานที่ ย่อยง่าย ใช้ง่าย และดูดซึมเข้าร่างกายได้ง่าย และรวดเร็วที่สุด หลังจากที่ถูกย่อยให้อยู่ในโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส น้ำตาลส่วนเกินจะถูกเก็บเอาไว้ในตับ และกล้ามเนื้อในรูปของไกลโคเจน แต่เมื่อเป็นพลังงานที่ย่อยง่าย ดูดซึมง่าย มันก็จะหมดไปได้ง่ายเช่นกัน โดยจะใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ร่างกายรู้สึกหิวอีกครั้ง

หากร่างกายของเรายังขาดอาหารอย่างต่อเนื่องไปอีก 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน ร่างกายจะเริ่มดึงพลังงานจากกรดไขมันมาใช้แทน ในระหว่างที่ร่างกายดึงกรดไขมันมาใช้ กรดไขมันจะเปลี่ยนเป็นสารที่เรียกว่า คีโตน ซึ่งเกิดขึ้นที่ตับ จากนั้นจึงถูกส่งไปยังหัวใจ สมอง และเนื้อเยื่อในร่างกายต่างๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานในร่างกายต่อไป

>> "คีโตเจนิค" กินไขมันลดอ้วน แต่กินไม่ถูกวิธีอาจยิ่งอ้วน

หากเวลาผ่านไปอีก 3 วัน กรดไขมันจะถูกทำมาใช้เป็นพลังงานจนหมด ร่างกายจะดึงเอาพลังงานจากโปรตีนมาใช้ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานแหล่งสุดท้ายที่มีอยู่ โปรตีนเหล่านี้อยู่ในกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง และเส้นผม โปรตีนในร่างกายจะถูกย่อยแล้วกลายเป็นกรดอะมิโน เพื่อดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วจึงจะถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสอีกครั้งที่ตับ ทำให้สมองของเรายังทำงานอยู่ได้ และเมื่อร่างกายดึงเอาโปรตีนมาใช้ มวลกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายจึงจะค่อยๆ ลีบเล็ก แบนลงไปเรื่อยๆ ทำให้ร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย และถ้ายังขาดอาหารต่อไป ร่างกายจะไม่มีพลังงานอะไรให้ออกมาใช้เพื่อดำรงชีวิต จนเสียชีวิตได้ในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook