"จุลินทรีย์ในลำไส้" อาจเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เเละอาการซึมเศร้า
โรนัลด์ คาน นักวิจัยโรคเบาหวานแห่งภาควิชาการแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าความอ้วนหรือระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายมีความเกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางจิตเวช เเละจุลินทรีย์ในลำไส้มีบทบาทส่วนหนึ่งต่อระบบเผาผลาญพลังงาน
โรคอ้วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเผาผลาญพลังงาน อาทิ ทำให้ตับ กล้ามเนื้อ ไขมันเเละเนื้อเยื่ออื่นๆ ลดประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อสารอินซูลิน และหากไม่รักษาอาจกลายเป็นโรคเบาหวาน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าคนที่เป็นโรคอ้วนยังวิตกกังวลเเละซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป
จุลินทรีย์ในสำไส้เหล่านี้เปลี่ยนไปตามอาหารที่เรากินเข้าไป เเละนักวิจัยกล่าวว่า จุลินทรีย์ที่แตกต่างกันอาจตอบสนองไม่เหมือนกับต่ออาหารที่รับประทาน
เพื่อทดสอบทฤษฎีนี้ ทีมนักวิจัยได้ทดลองกับหนู โดยให้หนูกินอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงเเละศึกษาพฤติกรรมของหนูทดลองในขณะที่หนูเริ่มกลายเป็นโรคอ้วน
ทีมนักวิจัยได้ใช้วิธีการทดสอบทั่วไปเพื่อวัดดูพฤติกรรมที่เเสดงถึงความวิตกกังวลเเละความซึมเศร้าของหนูทดลอง ยกตัวอย่าง หนูซ่อนตัวอยู่ในกล่องที่มืดนานแค่ไหน เทียบกับระยะเวลาที่หนูใช้ในการออกมาสำรวจในพื้นที่สว่าง
ยิ่งหนูทดลองมีความวิตกกังวลมากเท่าใด ก็จะใช้เวลาแอบอยู่ในกล่องที่มืดนานมากขึ้นเท่านั้น
หนูทดลองที่เป็นโรคอ้วนใช้เวลาน้อยกว่าหนูทดลองปกติในพื้นที่สว่างราว 25 เปอร์เซ็นต์ และการทดสอบอื่นๆ ยังพบด้วยว่าหนูอ้วนยังซึมเศร้าเเละวิตกกังวลกว่าปกติด้วย
แต่ความแตกต่างเหล่านี้หายไปเมื่อหนูอ้วนได้รับยาปฏิชีวนะ แม้ว่าน้ำหนักตัวจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นักวิจัยกล่าวว่านั่นเเสดงว่าเป็นไปได้ที่จุลินทรีย์ในลำไส้มีบทบาทในเรื่องนี้
การศึกษานี้ทำให้นักวิจัยสงสัยถึงการตอบสนองของสมองต่อสารอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระเเสเลือด เเละเพื่อศึกษาว่าสมองส่วนใดที่อาจมีส่วนให้เกิดผลต่อพฤติกรรมแบบนี้
ทีมนักวิจัยได้เน้นศึกษาสมองสองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงานเเละสวนที่ตอบสนองต่อรางวัล พวกเขาพบว่าสมองสองส่วนของหนูทดลองที่เป็นโรคอ้วน ตอบสนองน้อยต่อสารอินซูลินกว่าสมองของหนูทดลองที่มีน้ำหนักตัวปกติ และเมื่อบำบัดด้วยยาปฏิชีวนะ ความบกพร่องต่างๆ ของหนูทดลองกลับเป็นปกติ
นักวิจัยแปลกใจมากต่อผลการศึกษาที่ได้ เพราะคาดไม่ถึงว่าเชื้อจุลินทรีย์มีผลต่อการทำงานของสมอง เเละต่อพฤติกรรม
แต่นักวิจัยเตือนว่า ยาปฏิชีวนะไม่ได้เป็นตัวบำบัดโรคซึมเศร้า ตัวยาทำลายจุลินทรีย์ทุกชนิดทั้งดีและไม่ดี และการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นจะนำไปสู่ปัญหาเชื้อโรคดื้อยา
เขากล่าวว่า ผลการทดลองกับหนูที่ได้อาจไม่มีผลเดียวกันกับคน หรืออาจจะได้ผลกับคนบางคนเท่านั้น และมาถึงตอนนี้ ทีมงานยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าจุลินทรีย์ที่ดีหรือโพรไบโอติกส์ช่วยบำบัดอาการวิตกกังวล
ทีมงานกำลังค้นหาว่า เชื้อเเบคทีเรียในลำไส้ชนิดใดจากหลายร้อยชนิดที่มีคุณสมบัตินี้