ดื่มน้ำน้อย-กลั้นปัสสาวะ เสี่ยง "กระเพาะปัสสาวะอักเสบ"
ผู้หญิงป่วย "กระเพาะปัสสาวะอักเสบ" มากกว่าผู้ชาย เผยกลุ่มเสี่ยงมักอั้นฉี่นาน ดื่มน้ำน้อย เชื้อโรคเติบโต ทำให้ฉี่บ่อยครั้งละน้อยๆ ปวด เบ่ง แสบ เป็นเลือด ขุ่น มีกลิ่นผิดปกติ มีไข้ ชี้เป็นเรื้อรังก่อโรคไตถึงเสียชีวิตได้
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออะไร?
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในช่วงอายุ 20-50 ปี สาเหตุที่พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชาย เชื้อโรคบริเวณปากท่อปัสสาวะ จึงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า ประกอบกับปากท่อปัสสาวะของผู้หญิงยังเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อทั้งจากช่องคลอดและจากทวารหนักได้ เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีหลายชนิด ประมาณ 75-95% เกิดจากเชื้ออีโคไล มีทั้งจากการอักเสบเฉียบพลัน รักษาหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือจากการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการอักเสบเป็นๆหายๆเรื้อรัง มีอาการรุนแรงน้อยกว่าการอักเสบเฉียบพลัน
กลุ่มเสี่ยงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
กลุ่มเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือ ผู้ที่กลั้นปัสสาวะนาน ส่งผลให้ปัสสาวะแช่ค้าง เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญเติบโตได้ดี ผู้สูงอายุ เพราะสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ขาดคนดูแล และไม่ค่อยเคลื่อนไหว มักนั่งๆ นอนๆ ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย ส่งผลให้ไม่ค่อยได้ปัสสาวะ ปัสสาวะจึงแช่ค้าง เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญได้ดี
อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อยๆ ปวด เบ่ง แสบ โดยเฉพาะตอนสุดปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นเลือด อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า คือ ปัสสาวะสีชมพู หรือเป็นเลือด หรือตรวจพบเม็ดเลือดแดงได้จากการตรวจปัสสาวะ
- ปัสสาวะขุ่นหรืออาจเป็นหนองขึ้นกับความรุนแรงของโรค
- มีกลิ่นผิดปกติปวดท้องน้อยมีไข้
- มีได้ทั้งไข้สูงและไข้ต่ำ แต่มักไม่มีไข้เมื่อเป็นการอักเสบเรื้อรัง
- บางครั้งอาจมีสารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย เมื่อเกิดจากติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจมีคลื่นไส้อาเจียนได้ เมื่อเป็นการติดเชื้อเฉียบพลัน
- อาจมีนิ่วปนออกมาในปัสสาวะ เมื่อเกิดร่วมกับนิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ผลข้างเคียงจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ผลข้างเคียงจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือ การลุกลามเป็นการอักเสบของไต ซึ่งเมื่อเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้ หรือเมื่อการอักเสบติดเชื้อรุนแรง อาจลุกลามเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนแนวทางการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ได้แก่ การให้ยาปฏิชีวนะ การรักษาสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง เช่น รักษาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และการรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ และการดื่มน้ำมากๆ วันละอย่างน้อย 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
- พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
- รักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
- รักษาความสะอาดในการขับถ่าย
- ไม่ควรใช้สเปรย์หรือยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศ เพราะก่อการระคายเคือง
- ในผู้หญิงไม่ควรใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการใช้น้ำยาฆ่าอสุจิ หรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก เพราะเพิ่มโอกาสติดเชื้อต่อช่องคลอด ปากท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ
- เลี่ยงการอาบน้ำในอ่าง เพราะอาจติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐานอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งพบแพทย์ตามนัดเสมอ
- หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป