สมุนไพร "ฤทธิ์ร้อน" รับมือสุขภาพ "ฤดูฝน"

สมุนไพร "ฤทธิ์ร้อน" รับมือสุขภาพ "ฤดูฝน"

สมุนไพร "ฤทธิ์ร้อน" รับมือสุขภาพ "ฤดูฝน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะระยะนี้ซึ่งมีฝนพรำ พร้อมกับอากาศร้อนอบอ้าวสลับในบางวัน โอกาสเจ็บป่วยทั้งอาการหวัดคัดจมูก เจ็บคอ รวมทั้งอาการท้องอืดเฟ้อ วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ฯลฯ อาการเจ็บป่วยที่มักเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูฝน เกิดขึ้นได้ง่าย

          การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจึงต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้ พท.ป.ศราวุฒิ อิสโร แพทย์แผนไทย โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้การดูแลสุขภาพ การใช้รสชาติอาหารเป็นยา ใช้สมุนไพรฤทธิ์ร้อนช่วยปรับสมดุลร่างกาย รวมถึงแนะนำยาสมุนไพรดูแลสุขภาพว่า ฤดูฝนสภาพอากาศมีความชื้นสูง เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค นอกจากการออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เพียงพอ การกินอาหารที่มีประโยชน์หลากหลาย เหมาะสมเพียงพอกับความต้องการของร่างกายก็ต้องให้ความสำคัญ

          "ในช่วงฤดูฝนอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน อย่างเช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริกไทย แมงลัก โหระพากะเพรา ใบมะกรูด ฯลฯ ฤทธิ์ร้อนของพืชสมุนไพรจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่น โดยนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ผัดกะเพรา ไก่ผัดขิง แกงข่าไก่ แกงเลียง ฯลฯ

          นอกจากอาหารยังนำมาเป็นเมนูเครื่องดื่มได้หลากหลาย เช่น น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำกระเจี๊ยบ ฯลฯ โดยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน จะมีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบหลัก ส่งผลทำให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง หายใจสะดวก"

          ในช่วงฤดูฝนมักพบอาการไข้หวัด คออักเสบ ไอ จาม ฯลฯ การป้องกันก่อนจะมีอาการดังกล่าว อาหารที่ทานเพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้นดังที่กล่าวแนะนำอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน ทานพืชผักที่มีรสเผ็ดร้อน อย่างเช่น ขิง หนึ่งในพืชสมุนไพรที่มีความน่าสนใจที่ช่วยปรับสมดุลร่างกาย

          ขิง นอกจากช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับลมยังนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู ยิ่งเมื่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีอาการไข้สามารถช่วยได้ดี โดยขิงช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย  นอกจากนี้ยังมีพืชผักใกล้ตัวอีกหลายชนิด อาทิ บัวบก โดย น้ำบัวบกช่วยบำรุงเลือด บำรุงสมอง และบำรุงร่างกาย โดยนำมาทานได้ทั้งใบสด นำมาปั่น หรือต้ม ช่วยดูแลสุขภาพในช่วงฤดูฝนได้เช่นเดียวกัน

          แต่ถ้ามีอาการป่วย ยาน้ำมะขามป้อม เป็นหนึ่งในยาตำรับที่ช่วยบรรเทาอาการ โดย ยาน้ำมะขามป้อม ช่วยอาการไอ เจ็บคอ มีเสลด สามารถจิบเวลาที่มีอาการคันคอ หรือจิบได้ตามต้องการ ทั้งนี้ มะขามป้อม เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีอยู่มากในลำดับต้นๆ ของสมุนไพรไทย และในตำรับยาไม่ได้มีเพียงมะขามป้อม แต่จะมีสมุนไพรอื่นๆ อย่างเช่น สมอไทย สมอพิเภก ชะเอมเทศ ที่ช่วยให้ความชุ่มคอ มีรสหวานทำให้ทานได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

          ยาฟ้าทะลายโจร ช่วยอาการหวัด เจ็บคอ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และถ้ามีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นไข้สามารถใช้ยาฟ้าทะลายโจรในเบื้องต้นได้ โดยทานเฉพาะช่วงที่มีอาการ ในเวลาเช้าและเย็น ที่สำคัญเมื่ออาการดีขึ้นควรหยุดยา ทั้งนี้ยาฟ้าทะลายโจรไม่ควรทานเกิน 1 สัปดาห์

          ในช่วงฤดูฝน คุณหมอศราวุฒิยังกล่าวถึง ตรีกฎุก ยาประจำฤดูที่ช่วยฟื้นฟูดูแลสุขภาพ ช่วยระบายความร้อน ลดอุณหภูมิในร่างกายและการไหลเวียนโลหิต ทั้งนี้ แพทย์แผนไทยพบว่าในฤดูฝน โดยมากมักมีปัญหาในเรื่องของการไหลเวียนโลหิตและลม  เมื่อการไหลเวียนไม่สะดวก อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามตัว ท้องอืดเฟ้อ จึงต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์ร้อนดูแลสุขภาพ

          ตรีกฎุก มีส่วนผสมหลักได้แก่ พริกไทย ดอกดีปลี เหง้าขิง ที่จะช่วยปรับสมดุลสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบต่างๆ ของร่างกาย การนำมาใช้จะใช้เสมอกันหรือเท่ากัน อย่างเช่น ถ้าใช้ในปริมาณ 15 กรัม ก็จะเท่ากันทั้งสามชนิด ทั้งนี้ ดีปลี ช่วยขับของเสียที่คั่งค้างในลำไส้  มีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม เช่นเดียวกับ ขิง ช่วยขับลมในเส้น ขณะที่พริกไทย รสเผ็ดร้อน ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ผลดีกับกล้ามเนื้อ อีกหนึ่งยาไทย สมุนไพรไทยใกล้ตัวที่ช่วยดูแลสุขภาพ ป้องกันโรครับมือกับฤดูฝนเวลานี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook