อันตราย! ท้องเสีย ท้องร่วง แต่ถ่ายไม่บ่อย เสี่ยง “เชื้อบิด”
ส่วนใหญ่แล้วอาการท้องเสียจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ หรืออาการถ่ายเหลวที่ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายบ่อยมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป แต่ไม่มีอาการอะไรอีกนอกจากอาการอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว อาการแบบนี้มักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงหากสามารถหยุดถ่ายได้เองในเวลาต่อมา เพียงแต่ต้องคอยดื่มน้ำเกลือแร่เป็นระยะๆ จนกว่าจะหยุดถ่ายเท่านั้น
แต่อาการท้องเสียอีกประเภทหนึ่ง คือ อาการท้องเสียที่อาจมีมูกเลือดปน ปวดท้องแบบปวดบิดทรมาน แต่ละครั้งถ่ายปริมาณไม่มาก และอาจมีอาการอาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้ กรณีนี้อาจเสี่ยงติดเชื้อ และหนึ่งในนั้นอาจเป็นเชื้อบิด
โรคบิด เกิดจากอะไร?
คืออาการท้องเสียอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella) หรือเกิดจากติดเชื้อจากสัตว์เซลล์เดียวอย่างตัวอะมีบา (E. histolytica) โดยอาจมีสาเหตุจากการทานอาหารที่มีเชื้อแบคมีเรียเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย
โรคบิด แบ่งออกเป็น ชนิดมีตัว ที่เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวอันมีชื่อว่า อะมีบา มักพบในเขตร้อนชื้น และโรคบิดชนิดไม่มีตัว ที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มชิเกลลา โดยทั้ง 2 ชนิดสามารถพบได้ในแหล่งที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดีพอ
อาการของโรคบิด
โรคบิดมีอาการคล้ายกับอาการท้องเสียทั่วไป คือการถ่ายเหลว แต่อาจถ่ายในแต่ละครั้งไม่มากนัก และอาจไม่ได้ถ่ายในจำนวนครั้งที่มากนักเช่นกัน แต่มีอาการอันตรายอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส อาเจียน ปวดท้องเกร็งเป็นพักๆ อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาโรคบิด
ผู้ป่วยโรคบิดอาจมีความรุนแรงของอาการในแต่ละอย่างไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ และสภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยเอง แต่อย่างไรเมื่อมีไข้ อาเจียน และถ่ายมากจนอ่อนเพลีย ควรได้รับยาลดไข้ และฆ่าเชื้อจากแพทย์ หรือบางรายอาจได้รับน้ำเกลือ หรือน้ำเกลือแร่ชนิดผงเพื่อลดความอ่อนเพลียของร่างกาย นอกจากนี้หากมีเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ควรได้รับการตรวจจากแพทย์อย่างละเอียดเพื่อติดตามอาการว่าแบคทีเรียจะไปทำร้ายส่วนต่างๆ ภายในร่างกายอีกหรือไม่ เพราะหากไม่ได้รับยาฆ่าเชื้ออย่างทันท่วงที อาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจนทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ลำไส้อักเสบ เกิดฝีในตับ และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อันตรายมากกว่าเดิมได้ ดังนั้นหากมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้องเกร็ง อาเจียน และมีไข้ ควรรีบไปโรงพยาบาลจะดีที่สุด
การป้องกันโรคบิด
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารจากแหล่งผลิต ร้านอาหาร หรือสังเกตอุปกรณ์ในการทำอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน
- ล้างมือ ล้างอุปกรณ์ในการทำ และทานอาหารให้สะอาด
- แยกอุปกรณ์ในครัวที่ใช้กับของดิบ กับของที่ปรุงสุกแล้วออกจากกัน อย่าใช้ร่วมกันโดยเด็ดขาด เช่น มีด เขียง ชาม จาน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
- ดื่มน้ำจากแหล่งผลิตที่สะอาด และไว้ใจได้เท่านั้น
- หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่สุขลักษณะไม่ค่อยดี ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งของบริเวณนั้นโดยตรง เช่น ก๊อกน้ำ ลูกบิดประตู และอาหารต่างๆ