“จูบเสี่ยงโรค” (Kissing Disease) จากเชื้อไวรัสที่พบในคนไทยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

“จูบเสี่ยงโรค” (Kissing Disease) จากเชื้อไวรัสที่พบในคนไทยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

“จูบเสี่ยงโรค” (Kissing Disease) จากเชื้อไวรัสที่พบในคนไทยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การติดต่อของเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสต่างๆ มักผ่านทางสารคัดหลั่งในร่างกาย ที่ผ่านเข้ามาทางบาดแผลอีกที ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เชื้อพิษสุนัขบ้า ที่สามารถแล่นเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายๆ จากรอยแผลที่ถูกสัตว์เลี้ยงข่วน หรือสัตว์เลียแผลสดถลอก อีกทางหนึ่งที่เชื้อโรคสามารถติดต่อเข้าสู่ร่างกายได้ นั่นคือ “น้ำลาย” นั่นเอง

 

เชื้อ EBV เชื้ออันตรายที่ติดต่อได้ผ่านการ “จูบปาก”

เชื้อ EBV หรือ Epstein-Barr Virus เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริม อีสุกอีใส งูสวัด ที่พบได้ในประชากรมากกว่า 90% และเชื้อนี้จะอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต จึงสามารถแพร่เชื้อไปได้เรื่อยๆ จนมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า everybody's virus (เชื้อไวรัสของทุกๆ คน)

เชื้อไวรัสตัวนี้สามารถแพร่เชื้อไปยังเด็กๆ ได้ จากการสำรวจในไทยพบว่า เด็กอายุราวๆ 5 ขวบ ติดเชื้อ EBV ไปแล้วจำนวนมากกว่า 3 ใน 4 หรือมากกว่านั้นหากเป็นเด็กในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางหรือต่ำกว่า จะยิ่งพบการติดเชื้อมากขึ้นหากเป็นประเทศด้อยพัฒนา ที่มีการดูแลสุขอนามัยที่ไม่ดี เช่น ในประเทศแอฟริกาที่พบการติดเชื้อและความชุกของการติดเชื้อ มากกว่า 90% ในผู้ใหญ่ไทย เช่นเดียวกับทั่วโลก

คนที่มีเชื้อไวรัสนี้ในร่างกายจะไม่แสดงอาการอะไร เพราะส่วนใหญ่จะหลบซ่อนอยู่ใน memory B cell แต่ในบางโอกาส ไวรัสสามารถจะถูกกระตุ้นให้แบ่งตัวเพิ่มขึ้น โดยอาจแสดงอาการของโรคหรือไม่ก็ได้ หากมีการติดเชื้อซ้ำ หรือมีอาการของโรคแสดงออกมา จะเรียกว่า โรคโมโนนิวคลีโอซิส หรือโรคโมโน (Infectious mononucleosis) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Kissing Disease หรือโรคติดต่อจากการจูบปาก

 

อาการจากการติดเชื้อ EBV

การติดเชื้อครั้งแรกไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ มักไม่แสดงอาการผิดปกติอะไรออกมา แต่หากเป็นการติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 หรือร่างกายมีปฏิกิริยาต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาจากการถูกกระตุ้น จนเกิดอาการ เช่น ติดเชื้อจากการจูบปากกับคนที่มีเชื้อไวรัสตัวนี้ในร่างกาย อาจมีอาการไข้สูง เจ็บคอจากคอหอย ทอนซิลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และอาจพบอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ ตับโต ม้ามโต จุดเลือดออกที่เพดานปาก ถ่ายอุจจาระเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีน้ำมูก ฯลฯ

ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 2 สัปดาห์ (อาจจะยังคงอ่อนเพลียต่ออีกหลายเดือน)

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มีการติดเชื้อครั้งแรกแบบเฉียบพลัน และรุนแรง โดยเกิดกับผู้ที่มีพันธุกรรมผิดปกติตั้งแต่กำเนิด รวมไปถึงการติดเชื้อ EBV แบบเรื้อรัง และการเป็นโรคมะเร็งจากการติดเชื้อ EBV เช่น มะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

 

การติดเชื้อ EBV นอกจากการจูบปาก

นอกจากการติดเชื้อผ่านน้ำลายจากการจูบปากแล้ว ยังสามารถติดเชื้อไวรัส EBV จากการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้ว ช้อนส้อม แปรงสีฟัน หลอดดูดน้ำ ฯลฯ กับผู้ที่ติดเชื้อได้อีกด้วย

 

การป้องกันการติดเชื้อ EBV

วิธีหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ EBV ได้แก่ หลีกเลี่ยงจูบกับคนแปลกหน้า และงดใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้ว ช้อนส้อม แปรงสีฟัน หลอดดูดน้ำ ฯลฯ อย่างไรก็ตามการหลีกเลี่ยงการจูบอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในชีวิตจริง แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการไม่จูบปากกับคนที่ไม่รู้จัก หรือจูบกับคนมากหน้าหลายตามากเกินไป เพราะนอกจากเชื้อ EBV แล้ว การจูบยังทำให้ติดโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคหวัด ไวรัสตับอักเสบบี เริม หูด และซิฟิลิส เป็นต้น ดังนั้นการมีคู่ครองแค่คนเดียว และใส่ใจกับสุขภาพของคู่ครองตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อนแต่งงาน รวมไปถึงสุขอนามัยต่างๆ ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook