3 วิธีช่วยคน “จมน้ำ” อย่างถูกต้อง
ในประเทศที่มีทะเลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามามากมายนับล้านๆ คนต่อปี และยังมีเรือเป็นหนึ่งในวิธีการคมนาคมที่สำคัญ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คนไทยจะต้องรู้วิธีเอาตัวรอดจากการจมน้ำอย่างถูกต้อง แม้ว่าในละคร หรือภาพยนตร์เราจะเคยเห็นตัวละครกระโดดลงไปช่วยคนจากการจมน้ำมามากมาย แต่สิ่งที่เราเรียนรู้จากชีวิตจริงคือ การกระโดดลงไปช่วยคนที่กำลังจมน้ำอยู่ อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด หรือปลอดภัยที่สุดเสมอไป
3 วิธีช่วยคน “จมน้ำ” อย่างถูกต้อง
ตะโกน-โยน-ยื่น เป็น 3 วิธีที่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่าเป็นวิธีการช่วยเหลือผู้ที่กำลังจมน้ำได้อย่างปลอดภัยที่สุด
- ตะโกนบอกคนที่กำลังจมน้ำให้อยู่ในอาการสงบ ไม่ตกใจจนเกินไป และแจ้งว่ากำลังให้การช่วยเหลือ
- รีบโยนสิ่งของที่ลอยน้ำได้เข้าไปใกล้ๆ คนจมน้ำ ให้เขาเหล่านั้นเกาะสิ่งของนั้นเพื่อลอยตัวได้
- เมื่อเขาเหล่านั้นเกาะของลอยน้ำได้แน่นแล้ว ค่อยๆ ยื่นอุปกรณ์ หรือสิ่งของอื่นๆ ให้ผู้ที่จมน้ำจับ แล้วค่อยๆ ลากเข้าฝั่งช้าๆ
ทำไมถึงไม่ให้กระโดดลงน้ำไปช่วย?
เหตุผลที่ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยผู้ที่กำลังจมน้ำด้วยตัวเอง เพราะผู้ที่จมน้ำจะมีอาการตกใจ กอดรัด และทำให้จมน้ำไปด้วยกันทั้งคู่ นอกจากนี้จะต้องประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของน้ำด้วย โดยเฉพาะในทะเลที่มีคลื่นลมแรง เพราะฉะนั้นการกระโดดลงไปช่วยเองจึงอาจจะไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป
อย่างไรก็ตาม คนไทยควรเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดจากอุบัติเหตุทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกว่ายน้ำ ฝึกลอยตัวอยู่ในน้ำ หัดโบกมือขึ้นลงเหนือศีรษะ และการตะโกนเพื่อขอความช่วยเหลือ เป็นต้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือตัวเองก่อนที่จะมีความช่วยเหลือจากคนอื่น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปในที่เกิดเหตุ