5 โรคติดต่ออันตรายจาก “ค้างคาว” ที่นักท่องเที่ยวควรระวัง
แม้ว่าโรคติดต่อจาก “ค้างคาว” จะดูไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตาคนไทยกันมากนัก แต่หากเป็นในต่างประเทศจะพบว่ามีโรคระบาดจากค้างคาวที่คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก และในฐานะที่ประเทศไทยก็มีแหล่งค้างคาวชุกชุมอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง หากทราบถึงอันตรายจากค้างคาวเอาไว้บ้าง ก็จะทำให้เรารักษาระยะห่างกับค้างคาวได้มากขึ้น หลีกเลี่ยงอันตรายจากการติดเชื้อจากค้างคาวได้มากขึ้นอีกด้วย
โรคติดต่ออันตรายจาก “ค้างคาว” ที่นักท่องเที่ยวควรระวัง
-
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah)
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน ที่เกิดจากการสัมผัสมูลสัตว์ และสารคัดหลั่งของพาหะนำโรค ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ หรือสุกร ม้า แมว แพะ แกะ ที่รับเชื้อมาจากค้างคาวผลไม้อีกต่อหนึ่ง สามารถติดเชื้อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น เลือด หรือน้ำลาย
อาการเบื้องต้นของโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ จะมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลียเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่จะเริ่มหายใจหนัก และเร็วขึ้น ไอเสียงดัง และเริ่มมีอาการแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ เป็นต้น หากปล่อยให้อาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รีบทำการรักษา อาจเสี่ยงเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ คือการล้างทำความสะอาดมือหลังจากสัมผัสกับสัตว์ ไม่ทานเนื้อสัตว์ดิบ ไม่รับประทานสัตว์ที่ตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ รวมไปถึงผักผลไม้ที่มีรอยแทะกัดของสัตว์ในป่า เป็นต้น
>> โรคติดเชื้อไวรัส “นิปาห์” คืออะไร? อาการเป็นอย่างไร? อันตรายแค่ไหน?
-
โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola)
โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เกิดจากการติดเชื้อที่มีมากถึง 5 สายพันธุ์ คือ Zaire, Sudan, Reston, Taï Forest และ Bundibugyo Ebolavirus ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Filovirus หนึ่งในนั้นสามารถค้นพบได้ในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด รวมถึง ค้างคาวผลไม้ ที่พบการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ค้างคาวจึงเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อไวรัสอีโบลาในธรรมชาติ
อาการสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้แก่ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว
วิธีป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรคทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย และหลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร
-
โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (Hendra)
โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา (เดิมเรียกเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์กีบ) เกิดจากเชื้อไวรัสเฮนดรา (Hendra) ซึ่งเป็นไวรัสใน genus Henipavirus, family Paramyxovirus เริ่มพบการติดเชื้อจากม้า แต่ในปี ค.ศ. 2000 นักวิจัยพบการติดเชื้อไวรัสเฮนดราในค้างคาวแม่ไก่ หรือค้างคาวผลไม้
ไวรัสเฮนดราก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไม่รุนแรง อาการของโรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรามีตั้งแต่ปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียน ซึมและสับสน ไปจนถึงปอดอักเสบ และรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้
ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสเฮนดราได้ด้วยการทำความสะอาดมือทุกครั้งที่สัมผัสกับสัตว์ ไม่ทานเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ทานผลไม้ที่ไม่สะอาด มีรอยแทะของสัตว์อื่น
-
โรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV)
มีการพบเชื้อไวรัส SARS-CoV (Severe Acute Respiratory Syndrome) สาเหตุของโรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส ในสัตว์อย่าง อีเห็นเครือ สุนัขแรคคูน โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากการจำหน่ายสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารในประเทศจีนที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน และแพร่เชื้อโรคสู่มนุษย์ ต่อมาพบการติดเชื้อในค้างคาวมงกุฎในประเทศจีน นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในลิงแชมแปนซี ไก่ สุนัข แมว หมู หนู นก อีกด้วย
โรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์ไปคน และคนไปสู่คนได้ ผ่านการจาม หรือไอรดใส่กันตรงๆ สัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนละอองเสมหะของผู้ติดเชื้อ แล้วเอานิ้วมือไปเช็ดตาเช็ดจมูก
อาการของโรคจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร หนาวสั่น เจ็บคอ หายใจหอบและอาจรุนแรงไปจนถึงปอดอักเสบ หรือปอดบวม
วีธีป้องกันการติดโรค คือการอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันละอองเสมหะของผู้ป่วย รวมไปถึงไม่บริโภค หรือสัมผัสกับเนื้อสัตว์ที่ไม่สะอาด หรือไม่ทราบแหล่งที่มา และรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
-
โรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV)
โรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome) หรือโรคเมอร์ส เกิดจากการติดเชื้อในกลุ่ม โคโรน่าไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร หลังจากมีการพบเชื้อไวรัสก่อโรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงในค้างคาวแล้ว จึงมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลางในค้างคาวด้วย แล้วพบว่ามีเชื้อในค้างคาวปีกถุง ในประเทศซาอุดิอาระเบีย แม้ว่าจะยังไม่พบการติดเชื้อจากค้างคาวสู่มนุษย์โดยตรง แต่ค้นพบการติดเชื้อจากค้างคาวสู่อูฐ และอูฐสู่มนุษย์ในพื้นที่แถบประเทศตะวันออกกลาง
การติดต่อของเชื้อไวรัส คล้ายกับการติดเชื้อโรคซาร์ส และโรคหวัดทั่วๆ ไป คือการโดยผู้ติดเชื้อไอ หรือจามใส่ตรงๆ สูดเอาละอองเสมหะ หรือสัมผัสกับละอองเสมหะของผู้ติดเชื้อผ่านข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แล้วมาเช็ดตาเช็ดจมูก รวมถึงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เป็นต้น
ลักษณะอาการของโรคกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลางก็คล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว เจ็บคอ หอบหายใจหนัก หากมีอาการรุนแรงอาจมีอาการในระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน รวมไปถึงอาการหอบเหนื่อยตามความรุนแรงของภาวะขาดออกซิเจนได้
การป้องกัน คือการอยู่ห่างจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และให้ผู้ติดเชื้อสวมผ้าปิดปาก-จมูก และมาพบแพทย์พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ หากมีประวัติเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด ของเชื้อ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย การ์ตา จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ตูนิเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย กรีซ และฟิลิปปินส์ ส่วนผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ให้สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นรักษาความสะอาดมือ ทั้งผู้ป่วยเองและคนรอบข้างด้วย