ติดรส หวาน มัน เค็มมากไป ระวัง "โรคหัวใจ"
พฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนในปัจจุบัน มักเน้นรสชาติที่ถูกปาก เมนูหน้าตาถูกใจ สีสันชวนน่ารับประทาน โดยเฉพาะรสหวาน มัน เค็ม ที่เรียกได้ว่าเป็นรสชาติยอดนิยมของคนไทย แต่กลับส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากขาดการควบคุมและบริโภคเกินพอดี
อย่างที่ทราบกันดี ว่าเมืองไทยเรานั้นมีอาหารให้เลือกรับประทานมากมาย ที่สำคัญอาหารไทยมีครบทุกรส ทั้งหวาน มัน เค็ม เผ็ด เปรี้ยว รสชาติที่ชวนกินจึงนำไปสู่ความเสี่ยงในการบริโภคเกินพอดี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ ถ้าไม่รีบควบคุมปริมาณให้พอเหมาะไว้
-
หวานไปไม่ดี
น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีสารอาหารอื่นๆ เมื่อบริโภคมากเกินไปร่างกายจึงได้รับแต่พลังงานเพียงอย่างเดียว ที่น่าสนใจคือแม้น้ำตาลจะมีหลายชนิด แต่ให้พลังงานไม่ต่างกันคือประมาณ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม และแม้ร่างกายจะมีกระบวนการป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินไป แต่หากบริโภคน้ำตาลมากเกินไป จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงส่งผลให้ร่างกายหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพื่อนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงาน ทั้งนี้ แต่ละคนจะตอบสนองต่ออินซูลินไม่เท่ากัน คนที่หลั่งอินซูลินแต่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์จะส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เกิดแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นได้ในที่สุด
ป้องกันไม่ให้หวานมากเกินไปได้อย่างไร
สามารถป้องกันระดับน้ำตาลในร่างกายไม่ให้เกินได้โดย ควรกินน้ำตาลให้น้อย โดยเฉลี่ยไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา(24 กรัม) เลี่ยงเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีน้ำตาลมากกว่าร้อยละ 5 ซึ่งสังเกตได้จากฉลากข้างขวด เลือกทานผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย เช่น ฝรั่ง มะละกอ แอปเปิ้ลเขียว ส่วนของหวานหลังอาหารรับประทานได้ แต่ควรเน้นรสหวานน้อยและสลับกับการรับประทานผลไม้หลังมื้ออาหาร -
มันมากโรคถามหา
ไขมัน ถือเป็นสารอาหารจำเป็นต่อร่างกายและเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงานสูงถึง 9 กิโลแคลอรี่ มากกว่าคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน หากรับประทานไขมันมากเกินไป นอกจากจะทำให้อ้วนยังนำไปสู่โรคเรื้อรังได้ โดยเฉพาะไขมันทรานส์ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตไขมันเทียม ซึ่งพบในเนยขาว เนยเทียม เบเกอรี่ โดนัท คุกกี้ ครีมเทียมบางชนิด ฯลฯ หากรับประทานมากเกินไปจะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดตีบ ทั้งยังเพิ่มไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และลดไขมันชนิดดี (HDL) ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มสูงขึ้นได้ นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวมากซึ่งมักพบในน้ำมันจากสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันขาวๆ ไขมันในนม และเนยสด จะส่งผลให้คอเลสเตอรอลสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นเช่นกัน
วิธีป้องกันไขมันไม่ให้เกิน
คือ ควรกินไขมันให้น้อยไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา(30 กรัม) ทานเนื้อสัตว์ไม่มีหนัง ไม่ติดมัน และไม่ควรเกิน 9 ช้อนโต๊ะต่อวัน เลี่ยงอาหารทอดเพราะน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารอย่าง น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม ฯลฯ มักจะมีกรดไขมันอิ่มตัวมาก งดอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เค้ก ครีมเทียม ป๊อปคอร์น แฮมเบอร์เกอร์ ฯลฯ และ ไม่ควรทานอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ เป็นต้น -
เค็มมากร่างพัง
ความเค็มเป็นรสชาติที่ติดปากคนไทย ซึ่งมาจากสารประกอบโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือที่นำมาใช้ในการทำอาหาร ซึ่งโซเดียมนั้นมีประโยชน์กับร่างกายคือช่วยให้ระบบไหลเวียนของร่างกายเป็นปกติ ความดันและปริมาตรของเลือดเป็นปกติ แต่หากได้รับโซเดียมมากเกินไปจะนำมาซึ่งผลเสียต่อสุขภาพคือ เมื่อทานเกลือจะอยากทานน้ำ พอทานน้ำเข้าไปรวมเป็นน้ำเกลือก็จะเพิ่มปริมาณเกลือแร่ในเลือด ส่งผลให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ หนักขึ้น เปรียบเหมือนหัวใจเล่นเวท ทำให้แรงดันหลอดเลือดสูง อาจเกิดภาวะหัวใจโต นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ และการกินเค็มมากไป ทำให้เป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่ภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรืออัมพาตได้ ที่น่ากลัวคือเมื่อโซเดียมมากเกินไป ร่างกายอาจไม่แสดงอาการ แต่จะทำลายอวัยวะต่างๆ ไปเรื่อยๆ ดังนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีคือสิ่งสำคัญ
วิธีป้องกันโซเดียมไม่ให้เกิน
ควรกินโซเดียมให้น้อยไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา (2,000 มิลลิกรัม) งดการเติมน้ำปลาพริกในอาหาร ไม่จิ้มพริกเกลือเมื่อกินผลไม้ เลี่ยงการทานอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารอบแห้ง ขนมกรุบกรอบ และลดความถี่กับปริมาณการรับประทานน้ำจิ้มต่างๆ ลง
สิ่งสำคัญคือการปรับพฤติกรรม โดยลดการกินหวาน มัน เค็มลงจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ นอกจากนี้การตรวจเช็กสุขภาพหัวใจก็มีความสำคัญ หากรู้ว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยง ติดรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มในปริมาณมากไม่ควรชะล่าใจ ควรตรวจคัดกรองโรคหัวใจเช็กความแข็งแรงของหลอดเลือด ยิ่งถ้ามีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมยิ่งควรใส่ใจเข้ารับการตรวจเช็กหัวใจเป็นประจำทุกปี เพื่อห่างไกลจากโรคหลอดเลือด