“คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” อันตรายจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ
ด้วยการงานที่รัดตัวตลอดเวลาของวัยทำงาน อาจทำให้ใครหลายคนต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันโดยแทบไม่มีเวลาจะลุกไปไหน ทานข้าวยังนั่งทานหน้าคอม พฤติกรรมแบบนี้จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว หนึ่งในโรคนั้นคือ คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือซีวีเอส (Computer Vision Syndrome : CVS)
อาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หมายถึงอาการปวดตา แสบตา ตาพร่ามัว ตาแห้ง จนอาจไปถึงน้ำตาไหล จากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ระดับความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้สายตาอยู่หน้าจอ
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม นอกจากการใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานแล้ว ยังเกิดมาจากตำแหน่งการจัดวางคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสม มีแสงสว่างหรือแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ที่มากเกินไป ระยะห่างระหว่างดวงตากับจอคอมพิวเตอร์ ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม หรืออาจเกิดมาจากความผิดปกติสายตาของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดิจิตอลเองที่ไม่ได้รับการแก้ไข
วิธีป้องกันอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมที่ดีที่สุด คือ
- วางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากดวงตาประมาณ 20-28 นิ้ว และควรให้จุดกึ่งกลางกึ่งกลางของหน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตาในแนวราบประมาณ 4-5 นิ้ว
- ปรับแสงสว่างหน้าจอให้พอเหมาะและไม่สว่างเกินไป อาจใช้กระจกกันแสงสะท้อนติดที่หน้าจอ เพื่อลดแสงสะท้อนเข้าดวงตา
- ควรพักการใช้สายตาเป็นระยะ โดยใช้ “สูตรการพักสายตา 20 – 20 - 20” คือละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 20 นาที แล้วมองไปที่วัตถุที่อยู่ไกลอย่างน้อย 20 ฟุต นานประมาณ 20 วินาที
- ขณะทำงานหน้าจอ ควรกระพริบตาให้บ่อยขึ้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดวงตา
- สำหรับผู้ที่มีสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ยาว หรือเอียง ควรตรวจและแก้ไขความผิดปกติสายตาโดยใส่แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพที่หน้าจอได้อย่างชัดเจน
- ลดการเพ่งมองที่หน้าจอ ป้องกันอาการปวดตาหรือแสบตาได้