สิวไม่หาย เพราะเข้าใจผิดๆ

สิวไม่หาย เพราะเข้าใจผิดๆ

สิวไม่หาย เพราะเข้าใจผิดๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิวไม่หาย เพราะเข้าใจผิดๆ Understanding Acne Truths or Myths

ยังจำได้แม่น.. สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ (ซึ่งก็ผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว) อาจารย์เคยสอนไว้ว่า ควรยกมือไหว้คนไข้ก่อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเด็กหรือแก่กว่า มาในฐานะหรือสภาพใด เพราะคนไข้คือครู นักศึกษาแพทย์ธิดากานต์ในวันนั้น ยังไม่เข้าใจคำสอนของอาจารย์ดีนัก แต่ก็ทำตามไปจนติดเป็นนิสัย กระทั่งเรียนจบ ได้มาปฏิบัติงานเป็นหมอจริงๆ จึงเข้าใจว่า คนไข้เป็นครูของเราจริง แม้ทำงานมาจนปัจจุบัน ก็ยังได้เรียนอะไรใหม่ๆจากคนไข้เสมอ โดยเฉพาะโรคผิวหนังที่เจอทุกวัน อย่างสิว บ่อยครั้งที่ความเข้าใจผิดๆถูกหยิบยกมาไต่ถาม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก เพราะเมื่อคนเป็นหมอเข้าใจว่าคนไข้เข้าใจผิดอย่างไร จะช่วยให้ปรับความเข้าใจให้ถูก และรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาดูกันค่ะว่า ความเข้าใจผิดๆอะไรบ้าง ที่หมอเจอเป็นประจำ
1. “เป็นสิวหรือหน้ามัน ต้องล้างหน้าบ่อยๆ” จริงๆแล้ว การล้างหน้าบ่อยเกิน ไม่ได้ช่วยลดหน้ามัน หรือลดสิว ตรงกันข้าม กลับทำให้สิวเพิ่มขึ้นได้ด้วยซ้ำ ควรล้างวันละ 2 ครั้งจะดีกับผิวที่สุด ส่วนระหว่างวัน หากหน้ามัน ให้ใช้กระดาษซับมันชนิดไม่มีแป้งซับได้
2. “การสครับหน้า ช่วยรักษาสิว” จริงๆแล้ว การสครับผิว ไม่ได้ช่วยลดการเกิดสิว ในบางคนสครับมากไประคายเคืองรูขุมขน กระตุ้นการเกิดสิวได้ด้วย
3. “เป็นสิว ต้องกด บีบ หรือจัดการมันเสีย” จริงๆแล้ว เราไม่จำเป็นต้องกดสิวทุกเม็ด การกดหรือสำเร็จโทษสิวเองแบบผิดวิธี อาจก่อให้เกิดสิวอักเสบ และแผลเป็นได้ การทายารักษาถูกวิธี ช่วยให้สิวยุบลงได้โดยไม่ต้องกด แต่ถ้าต้องการกดออกจริงๆ ควรให้แพทย์กดออกอย่างถูกวิธีจะดีกว่า
4. “คนเป็นสิว ต้องงดทาครีมทุกชนิด” จริงๆแล้ว คนเป็นสิว ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์และกันแดดได้ ไม่จำเป็นต้องงดทุกอย่าง แต่ต้องรู้จักเลือกแบบที่ไม่มีสารก่อสิว หรือที่ระบุว่า 'non-comedogenic'
5. “สิวเป็นปัญหาที่ผิวเท่านั้น” จริงๆแล้ว สิวไม่ได้เป็นเรื่องผิวๆเท่านั้น แต่เกี่ยวโยงกับฮอร์โมนและความสมดุลภายในร่างกาย การรักษาสิวจึงควรดูแลเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน และการบริหารจัดการความเครียดไปพร้อมๆกัน
6. “มียาวิเศษที่รักษาสิวหายได้ทุกคน” จริงๆแล้วสิวมีหลายประเภท การรักษาสิวในคนไข้แต่ละคนจึงต้องใช้ยาแตกต่างกันไป การซื้อยามาใช้เองตามเพื่อนแนะนำ หรือดูตามในอินเตอร์เน็ต จึงมีโอกาสได้ยาผิดประเภท ไม่ตรงกับลักษณะสิวที่เป็น และรักษาไม่หายได้ การรักษาสิวเป็นศิลปะที่ละเอียดอ่อนค่ะ
7. “ยากินรักษาสิว นำมากินระยะยาวเพื่อลดหน้ามันได้” ยากินรักษาสิวในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ซึ่งมีขายหลากหลายยี่ห้อในเมืองไทย เช่น Roaccutane, Acnotin นั้น เป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่คนไข้หลายคนหาซื้อมารับประทานเอง และรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เพื่อควบคุมความมันบนใบหน้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเช่น ตับอักเสบ ไขมันในเลือดสูงขึ้น ผมร่วง หรืออื่นๆอีกมากมาย
นอกจากความเข้าใจผิดๆในเรื่องการดูแลรักษาสิวแล้ว บางครั้งยังมีความเข้าใจผิดๆตั้งแต่การวินิจฉัยคือ คิดว่าตัวเองเป็นสิว ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นสิว แต่เป็นโรคผิวหนังอื่นๆที่คล้ายสิว การหลงรักษาสิวอยู่นานจึงไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร การเริ่มต้นรักษาสิวที่ดี จึงควรเริ่มจากการวินิจฉัยที่ถูกต้องว่า เป็นสิวจริงหรือไม่ เป็นสิวประเภทไหน แล้วจึงนำไปสู่การรักษา และการปฏิบัติตัวที่ดีแบบองค์รวม ทั้งการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย ดูแลผิว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เริ่มต้นดูแลให้ถูกต้องตั้งแต่วันนี้นะคะ อย่าปล่อยให้สิวลุกลามเต็มหน้า จนถึงวันที่ส่องกระจกแล้วอุทานขึ้นมากับตัวเองว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Twitter, Instagram: @thidakarn

Understanding Acne Truths or Myths
I still remember....back when I was a medical student (many decades ago)...my professor taught us that we should wai our patients every time, no matter how young or old, because patients are teachers. Med student Thidakarn back then did not understand the professor, but did as she was taught until it became a habit. Once I became a practicing physician I finally understood that patients really are our teachers. Even today, I'm still learning new things from my patients, especially as a dermatologist where I see acne everyday. Often, I am asked about acne myths which are quite valuable because I can help my patients understand the truth and treat them more effectively. Let's look at some of the myths I often encounter:
1. "I should wash my face often when I have acne or oily skin." Actually, frequent face wash does not help reduce oiliness or acne, but actually contributes to making it worse. Washing your face twice a day is best for the skin. If you feel that your skin is oily, try using facial tissue that does not contain powder.
2. "Facial scrubs treat acne." Actually, facial scrub does not reduce acne. Some people who overuse them can irritate the skin and aggravate acne.
3. "We should squeeze them or get rid of them." Actually, we do not need to remove every single one. Squeezing acne out the wrong way can cause inflammation and scarring. Use the right ointment to reduce it down without squeezing. If you really want to push it out, visit your dermatologist for the right way to do so.
4. "If you have acne, stop using facial creams." Actually, you can still use moisturizer and sunblock. You do not need to stop everything, but choose the type that are known as 'non-comedogenic' or ones that do not contain acne-causing agents.
5. "Acne is only a skin problem." Actually, acne is not just a skin problem, but it is related to hormones and their balance within the body. To treat acne, you need to pay attention to food, exercise and sleeping habits as well as stress management simultaneously.
6. "There is a panacea that will get rid of acne for everyone." Actually, there are different types of acne so treatment is different for everyone. Self-medication with over-the-counter medicines or internet searches may not match the right treatment to your acne and it won't go away. Acne treatment is quite a delicate art.
7. "Oral acne medication can reduce oily skin with long term use." Medications available in Thailand that are derivatives of vitamin A, such as Roaccutane and Acnotin, are prescribed medications and should be used under a doctor's care. Many patients self-medicate and have been taking them for a long period of time to control oily skin. However, it may lead to side effects such as liver inflammation, high lipids level in the blood, hair loss, and then some.

Not only some patients misunderstand about how to treat acne, but some may have misunderstood from the beginning that they have acne. Some skin disorders are similar to acne and if the patient self-medicate for acne, it will not be beneficial to anyone. The best place to start with acne treatment is the right diagnosis as to what type of acne it is and if it is acne in the first place. Also, taking care of your overall health, including diets, exercise, skin care and sleeping habits can begin today. Don't wait until it gets all over your face to the point where you look in the mirror and screamed "how did that happen?!?"
Twitter, Instagram: @thidakarn

ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook