7 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "มะเร็ง"
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจำเป็นต้องพิจารณาตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เริ่มจากการซักประวัติทั่วไปเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดีสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง และมีอาการแสดงของ 7 สัญญาณอันตรายต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์
- ระบบขับถ่ายเปลี่ยนไป
- แผลที่รักษาไม่ยอมหาย
- ร่างกายมีก้อนตุ่ม
- กลืนกินอาหารลำบาก
- มีเลือดออกผิดปกติจากทวารต่างๆ
- มีการเปลี่ยนแปลงของไฝและหูด
- ไอหรือเสียงแหบเรื้อรัง
การซักประวัติครอบครัวก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกับการตรวจร่างกายทั่วไป ทั้งการคลำหาก้อนผิดปกติ ในตำแหน่งต่างๆ เช่น ลำคอ เต้านม ข้อพับ รักแร้ ไหปลาร้าขาหนีบ ข้อศอก ข้อเข่า หากมีความเสี่ยงก็จำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะอุจจาระ การตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบีหรือชนิดซี เพราะจะทำให้เกิดภาวะตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งเซลล์ตับในที่สุด ซึ่งผลการตรวจต่างๆ ดังกล่าวก็จะทราบว่าบุคคลนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอวัยวะใดมากกว่าคนปกติ ดังนั้นควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง