"บ้านหมุน" หรือ "เวียนหัว" อาการแบบไหนที่อันตราย

"บ้านหมุน" หรือ "เวียนหัว" อาการแบบไหนที่อันตราย

"บ้านหมุน" หรือ "เวียนหัว" อาการแบบไหนที่อันตราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อยู่ๆ ก็ เวียนหัว แบบไม่ทราบสาเหตุ หรือบางครั้งก็รู้สึกเหมือน บ้านหมุน จนต้องกุมขมับ คุณรู้หรือไม่ว่าอาการเวียนหัวและบ้านหมุน เป็นอาการที่แตกต่างกัน และมีอันตรายต่างกัน เนื่องจากอาการวิงเวียนศีรษะเป็นเพียง "อาการ" ของโรค แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าบ้านหมุน นั่นคือคุณกำลัง "ป่วยเป็นโรค" รีบเช็ก เพื่อรู้จักความแตกต่างของอาการ บ้านหมุน หรือ เวียนหัว จะได้รีบไปพบหมอ

 

อาการ

  • อาการเวียนศีรษะ มีอาการมึนศีรษะไปจนถึงอาการวิงเวียนศีรษะ เดินเซ โคลง ทรงตัวได้ไม่ค่อยดี

  • อาการบ้านหมุน มีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบตัวเองหรือตัวเองหมุน รู้สึกโคลงเคลงทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงในหูร่วมด้วยได้

 

สาเหตุการเกิดอาการ

  • อาการมึนเวียนศีรษะ (dizziness) หมายรวมตั้งแต่อาการมึนศีรษะไปจนถึงอาการวิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการไม่เฉพาะเจาะจง เกิดได้จากโรคต่างๆ เช่น โรคทางระบบไหลเวียนเลือด โรคทางระบบประสาท ภาวะโลหิตจาง 

  • อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo) เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คอยรับการทรงตัวสมดุลของร่างกายในท่าทางต่างๆ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้มีอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน ซึ่งมีสาเหตุการเกิดมาจากสองส่วน คือ โรคทางระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอันตรายและรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาทส่วนกลางที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปากเบี้ยว ใบหน้าเบี้ยว หรือแขนขาอ่อนแรงสองข้างไม่เท่ากัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นอาการบ่งชี้ว่า อาจจะมีปัญหาหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดในสมองตีบ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบมาหาคุณหมอให้เร็วที่สุดภายหลังมีอาการ และ โรคทางหู ซึ่งมักจะมีอาการทางหูร่วมด้วย เช่น หูอื้อ เสียงในหู หรือว่าการได้ยินลดลง 

 

โรคที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน

  • โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน จึงพบมากในผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้คือ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ

  • โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และสูญเสียสมดุลของร่างกาย

  • การอักเสบของหูชั้นใน พบจากการอักเสบของหูชั้นกลาง ซึ่งพบได้ทั้งเชื้อรัสและแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะรุนแรง และเป็นอยู่หลายวัน แต่ผู้ป่วยมักมีการได้ยินที่ปกติ อาจพบว่าผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคหูน้ำหนวก แล้วลุกลามเข้าสู่หูชั้นใน อาการมักรุนแรงมาก ผู้ป่วยมักมีอาการสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย

  • โรคเนื้องอกของประสาทการทรงตัวหรือเส้นประสาทการได้ยิน มีอาการเวียนศีรษะร่วมกับการได้ยินลดลง บางคนอาจมีเสียงรบกวนในหู สำหรับคนที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่ และไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการชาที่ใบหน้าซีกนั้น อัมพาตของใบหน้า เดินโซเซ หรืออาการทางสมองอื่นๆ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดทับเนื้อสมอง

  • โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ มักจะพบอาการเวียนศีรษะตามหลัง อาการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นหวัดอยู่นานหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์ เมื่อไวรัสลุกลามเข้าในหูและเส้นประสาทการได้ยิน จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะรุนแรง นานหลายวันจนถึงสัปดาห์ แต่จะไม่ส่งผลต่อการได้ยิน

 

การวินิจฉัยโรค

ทำได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมไปถึงการตรวจหู การตรวจระบบประสาทและการทรงตัว ในบางครั้งก็มีความจำเป็นในการตรวจการกลอกของลูกตาและการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่างๆ บางคนจำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม โดยเฉพาะกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จำเป็นต้องได้รับการตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็ก หรือการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อวินิจฉัยหาตำแหน่งรอยโรค ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่ามีอาการบ้านหมุนควรรีบไปหาคุณหมอทันที เพื่อรีบทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

 

แนวทางการรักษา

การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค แต่ละโรคมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น การสังเกตอาการ การใช้ยา การทำกายภาพในโรคตะกอนหินปูนหลุดของหูชั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยรักษาของคุณหมอ เพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพร่างกายและโรคที่เกิดขึ้น 

 

ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยบ้านหมุน 

  • งดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือพลัดตก หกล้ม เช่น การขับรถ ขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเวียนศีรษะเวลาขยับศีรษะเร็วๆ
     
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 

  • ออกกำลังกาย 

  • การควบคุมโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน จะบรรเทาอาการ และทำให้อาการเวียนศีรษะหายเร็วขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook