“ท้องเสีย” ควร-ไม่ควรทานอาหารอะไรบ้าง?
อากาศร้อนชื้นของบ้านเรา เป็นอุณหภูมิที่ดีที่เชื้อแบคทีเรียในอาหารเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นนอกจากจะต้องรักษาความสะอาดของอาหารที่เราทานให้ดีแล้ว ต้องระมัดระวังอาหารตามร้านอาหารต่างๆ ให้ดีด้วย เลือกร้านที่ไว้ในในคุณภาพได้ และสังเกตรูป รส และกลิ่นของอาหารที่ทานทุกครั้ง แต่หากใครที่โชคร้ายเกิดอาการท้องเสียขึ้นมา ก็ไม่เป็นไร แต่หลังอาการท้องเสีย ต้องระมัดระวังอาหารที่ทานมากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดอาการถ่ายท้องอย่างต่อเนื่องจนอาจมีอาการหนักขึ้นจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อในโรงพยาบาลได้
อาหารสำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย
ก่อนอื่นต้องทดแทนปริมาณน้ำที่สูญเสียไปด้วยน้ำเกลือแร่ (ที่เป็นคนละชนิดกับน้ำเกลือแร่สำหรับนักกีฬา) ให้เลือกดื่มน้ำ (ต้มสุก) ผสมผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา ร้านขายของชำ หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป ดื่ม ½-1 แก้วโดยค่อยๆ จิบทีละน้อย จิบบ่อยๆ แต่หากไม่สามารถหาซื้อผงน้ำตาลเกลือแร่ได้ ให้ผสมเกลือป่น 1 ช้อนชา กับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำต้มสุก 1 ขวด หรือประมาณ 750 ซีซี
นอกจากน้ำผสมผงเกลือแร่ ORS แล้ว ควรทานอาหารเหล่านี้
- อาหารรสชาติอ่อนๆ จืดๆ ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุป
- อาหารไขมันต่ำ เช่น ไก่ไม่มีหนัง เนื้อปลา กุ้งสับต้มสุก
เมื่ออาการท้องเสียเริ่มดีขึ้น จึงเริ่มทานอาหารที่มีกากใยอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ (หลีกเลี่ยงผลไม้รสเปรี้ยว เพื่อเลี่ยงอาหารเสาะท้อง) ข้าวกล้อง ธัญพืชต่างๆ แต่ยังคงงดทานอาหารรสจัดไปก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์
อาหารที่ควรเลี่ยง เมื่อมีอาการท้องเสีย
- อาหารประเภทนมทั้งหมด นมสด นมวัว นมเปรี้ยว โยเกิร์ต
- ผัก ผลไม้ และน้ำผลไม้
- อาหารรสจัด เช่น ส้มตำ ต้มยำ ฯลฯ
- อาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ที่มีไขมัน แป้งที่มีส่วนผสมของเนย อาหารทะเลเช่น หอย ปลาหมึก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนที่มีอาการท้องเสียบ่อยครั้ง อาจเป็นคนธาตุอ่อน การทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูงอย่าง ข้าวกล้อง และธัญพืชต่างๆ รวมถึงผักผลไม้ (รสไม่เปรี้ยว) สามารถทำให้การขับถ่ายกลับมาเป็นปกติได้ และสำหรับใครที่ท้องเสียจากการทานยาปฏิชีวนะมากเกินไป นั่นหมายถึงยาเหล่านั้นอาจเข้าไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียดีๆ ในลำไส้จนหมด จึงต้องเติมแบคทีเรียที่ดีต่อลำไส้เข้าไปอย่างการดื่มนมเปรี้ยว หรือทานโยเกิร์ต ที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีวิตอยู่ด้วย ควรสังเกตข้างผลิตภัณฑ์ให้ดีว่ามีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่หรือไม่
วิธีหลีกเลี่ยงอาการท้องเสีย
- ลดการทานอาหารรสจัด เช่น เค็มจัด เปรี้ยวจัด เพื่อลดอาการเสาะท้อง
- ลดการทานอาหารหมักดอง เพราะมีความเสี่ยงต่อการพบเชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากกระบวนการหมักดองที่ไม่มีประสิทธิภาพ
- เลือกทานอาหารจากร้านอาหาร หรือเลือกวัตถุดิบในการทานอาหารที่สะอาด น่าเชื่อถือ ล้างทำความสะอาด และปรุงให้สุก 100% ก่อนทานอาหารทุกครั้ง
- ไม่ทานอาหารที่ปรุงสุกข้ามวัน และเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เย็นมากพอ เพราะอาจก่อให้เกิดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสียได้
- ไม่ทานอาหารมากจนเกินไป เช่น การทานบุฟเฟ่ต์ หรือการอดอาหารมื้อหนึ่ง แล้วมาทานอีกมื้อหนึ่งมากขึ้น เพราะการทานอาหารครั้งเดียวในปริมาณมาก จะทำให้ผนังหน้าท้องขยายมากยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร ควรเปลี่ยนมาทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยขึ้นจะดีกว่า และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดทุกครั้งก่อนกลืน ไม่รีบทาน รีบกลืนจนเกินไป เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ยาก เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร จนทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อยได้