เรอบ่อย หลังกินอาหาร แค่ "อาหารไม่ย่อย" หรือ "กรดไหลย้อน"
เรอบ่อย หลังกินอาหาร เป็นอาการที่ทำให้หลายคนกังวลใจว่าจะเป็นเพราะอาหารไม่ย่อย กรดเกินในกระเพาะ หรือเป็นเพราะโรคกรดไหลย้อนกันแน่
อาการเรอบ่อย เป็นสัญญาณของโรคอะไรได้บ้าง
เรอบ่อย หลังกินอาหาร อาจเกิดจากการกินอาหารเร็วเกินไป กินเยอะเกินไปจนอาหารไม่ย่อย นอกจากนี้เรอบ่อย หลังกินอาหาร เสร็จอาจเป็นสัญญาณของโรค เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอย่างโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคนิ่วในถุงน้ำดี หรืออาจเสียงเป็นมะเร็งในช่องท้องอย่างมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งลำไส้ เมื่อมีอาการเรอบ่อยๆ สิ่งที่ทุกคนจะคิดถึงเป็นอย่างแรกคืออาการอาหารไม่ย่อย แต่อาการอาหารไม่ย่อยก็คล้ายกับอาการของกรดไหลย้อน เรามีวิธีสังเกตความแตกต่างดังนี้
แค่อาหารไม่ย่อยหรือกรดไหลย้อน
อาการของอาหารไม่ย่อย มีดังต่อไปนี้
- มีอาการท้องอืด
- รู้สึกแน่นท้อง
- มีลมในท้อง
- เรอบ่อย
- อาจมีอาการคลื่นไส้ อยากอาเจียน
- ปวดท้องส่วนบน
แต่ถ้าเรอบ่อย คลื่นไส้ อยากอาเจียน แถมยังมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย อาจหมายถึง กรดไหลย้อน
- แสบร้อนทรวงอก จุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่
- เรอเปรี้ยว เนื่องจากกรดในกระเพราะอาหารมีรสเปรี้ยว หรือหายใจมีกลิ่น
- เสียงแหบ ไอเรื้อรัง หรืออาการหอบหืด เพราะกรดไหลย้อนไประคายคอหอย กล่องเสียง หรือหลอดลม
- เจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก
วิธีแก้อาการเรอบ่อย ที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหารไม่ย่อยมักจะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกิน คือกินเยอะเกินไป กินเร็วเกินไป กินอาหารที่มีไขมันสูง กินอาหารไม่ตรงเวลา หรือดื่มน้ำอัดลม ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หากปรับพฤติกรรมการกินได้ก็จะช่วยทำให้อาการเรอบ่อยดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งยาเพียงอย่างเดียว เพียงแค่กินให้ช้าลง กินในปริมาณที่เหมาะสม และกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็จะช่วยทำให้อาการเรอบ่อย เนื่องจากอาหารไม่ย่อยดีขึ้นแล้ว
- การใช้ยารักษา ยาที่ใช้รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ก็เช่นยาลดกรด หรือถ้าเป็นยาปฏิชีวนะก็เช่น อะม็อกซีซิลิน (Amoxicillin) และเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เป็นยาที่ช่วยในการย่อยอาหาร ข้อควรระวังคือ ไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
วิธีแก้อาการเรอบ่อย ที่เกิดจากกรดไหลย้อน
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหารที่เรากินในแต่ละวันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ ดังนั้นวิธีการแก้อาหารเรอบ่อยเนื่องจากกรดไหลย้อน สามารถทำได้โดยปรับนิสัยการกิน คือบอกลา อาหารที่มีไขมันสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่หวานจัด เผ็ดจัด หรือเค็มจัด นอกจากพฤติกรรมการกินแล้ว ยังมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ที่ถ้าเลิกสูบได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกรดไหลย้อน และลดอาการเรอบ่อยด้วย
- การใช้ยารักษา หากปรับพฤติกรรมการกินแล้วแต่อาการเรอบ่อยยังไม่ดีขึ้น ก็อาจใช้ยาเช่น ยาลดกรดในกลุ่มยายับยั้งฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2 Blockers) เช่น ไซเมทิดีน (Cimetidine) ยารักษาโรคกระเพาะอาหารฟาโมทิดีน (famotidine) และยาในกลุ่มยับยั้งโปรตอน ปั๊ม (Proton pump inhibitors) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole) ข้อควรระวังคือ ไม่ควรซื้อยากรดไหลย้อนมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะเป็นอันตรายจากผลข้างเคียงจากยาได้
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
- กินยาลดกรด หรือยาลดอาการแสบร้อนทรวงอกมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์
- มีอาการกรดไหลย้อนเป็นประจำ
- อาเจียนติดต่อกันไม่หยุด
- ปวดท้องมาก
- เจ็บหน้าอก หายใจสั้นๆ หรือมีอาการเจ็บแขนร่วมด้วย