ฟรี! ตรวจคัดกรองโรค "ไวรัสตับอักเสบบี และซี"
กรมควบคุมโรค ร่วมกับเครือข่าย รณรงค์ตับอักเสบโลก ชวนคนไทยตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.- 3 ส.ค. 61 นี้ ใน 83 รพ.ทั่วประเทศ
นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และ ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ”
นพ.สมบัติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับโรคไวรัสตับอักเสบ เนื่องจากเป็นสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี ดี และอี แต่ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในไทยคือไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งคาดว่าในไทยจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านราย ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 300,000-700,000 ราย ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดการป่วยตาย และลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับผ่านมาตรการต่างๆ อย่างบูรณาการ
สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ประเทศไทยได้ดำเนินการป้องกัน ควบคุมและดูแลรักษาอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2556 โดยรัฐบาลไทยสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหายา Pegylated Interferon และ Ribavirin รักษาผู้ป่วยได้ประมาณปีละ 3,000 ราย แต่ยามีประสิทธิผลในการรักษาเพียงร้อยละ 60-80 ใช้เวลารักษานานถึง 48 สัปดาห์ และมีผลข้างเคียงสูง ทำให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่าย พยายามจัดหายากลุ่ม Direct Acting Antivirals (DAAs) เช่น Sofosbuvir, Ledipasvir และ Velpatasvir เป็นต้น ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิผลรักษาโรคให้หายขาดสูงมากกว่าร้อยละ 90 มีผลข้างเคียงจากยาต่ำ ใช้เวลารักษาประมาณ 12 สัปดาห์ และในปี 2561 นี้ คณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้บรรจุยาบางชนิดในกลุ่ม DAAs สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว
สำหรับสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก ประจำปี 2561 นี้ คำขวัญ คือ “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” และขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2561 ณ โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 83 แห่ง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ (รายชื่อ 83 รพ.ที่เข้าร่วมโครงการฯ https://goo.gl/QZ8Wjb) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ด้าน รศ.พญ.วัฒนา กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5-8 และไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 1-2 พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทั้งนี้ องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดนโยบายให้ทุกประเทศในโลกร่วมมือกันกำจัดไวรัสให้สิ้นซากในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ซึ่งประเทศไทยก็ได้ร่วมลงนามให้ความร่วมมือดังกล่าว แต่ปัญหาที่ทั่วโลกต้องเจอคือประชากรไม่ทราบว่าตัวเองเป็นหรือติดเชื้อ เนื่องจากการติดเชื้อเหล่านี้ไม่มีอาการ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อก็ไม่ได้ตระหนักว่าตนเองเป็น จึงเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ ในปัจจุบันอัตราตายสูงสุดของประเทศไทย คือ มะเร็ง ในเพศชายมะเร็งตับพบเป็นอันดับที่ 1 เพศหญิงพบเป็นอันดับที่ 3 แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมะเร็งตับมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของทั้งหญิงและชาย
โดยหลายคนไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นที่ต้องคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ได้รับเลือดก่อนปี 2535 ผู้มีประวัติตับอักเสบ ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งตับหรือมีอายุสั้นจากการตายด้วยมะเร็งตับ ผู้ที่มีการปนเปื้อนเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือด เช่น การสัก การเจาะ หญิงตั้งครรภ์ทุกคน คนที่อยู่ในคุก ผู้ที่ใช้สารเสพติด เป็นต้น เมื่อทราบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง จะได้เข้าสู่ขบวนการรักษา ซึ่งรัฐบาลให้การรักษาฟรีทุกกองทุน หากทุกคนตระหนักและคัดกรองอย่างต่อเนื่องถ้าติดเชื้อก็เข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็สามารถจะเดินไปถึงการกำจัดไวรัสตับอักเสบให้สิ้นซากได้ในอีก 12 ปีข้างหน้า
ส่วน ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 นี้ สปสช. ได้กำหนดสิทธิประโยชน์และดำเนินการจัดหายาเพิ่มเติมสำหรับให้บริการผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นอีก 2 สูตร คือ 1.ยาเม็ดรับประทาน Sofosbuvir 400 mg เพื่อใช้ร่วมกับยาฉีด Peginterferon และยาเม็ดรับประทาน Ribavirin สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์ที่ 3 และ 2.ยาเม็ดสูตรผสม Sofosbuvir 400 mg และ Ledipasvir 90 mg สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์อื่นทั้งที่มีหรือไม่มีภาวะตับแข็งร่วมด้วยสูตรยาที่เพิ่มมานี้ จะสามารถลดระยะเวลาในการรักษาลง จาก 24 สัปดาห์ เป็น 12 สัปดาห์ และมีประสิทธิผลการรักษาที่ดีขึ้นกว่าการใช้ยาฉีด Peginterferon และยา Ribavirin สูตรเดิมอย่างเดียว ทั้งนี้ สปสช. ได้ร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหาและกระจายให้กับหน่วยบริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่ายาเม็ดทั้งสิ้น 66,360,000 บาท ซึ่งเป็นการจัดหายาระดับประเทศ ทำให้มีอำนาจในการต่อรองและได้ยาในราคาที่ถูกลงกว่ากระจายให้หน่วยบริการจัดหาเอง
สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 สปสช. ได้ดำเนินการจัดเตรียมงบประมาณ เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทั้งสิ้น 155,642,500 บาท และได้เตรียมงบประมาณจัดหายารักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นเงิน 230,555,250 บาท ซึ่งได้วางแผนการจัดหายาดังกล่าวทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่เครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหายาตามแผนที่ได้กำหนดไว้ และพร้อมที่จะกระจายยาให้หน่วยบริการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2562 หรือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป