ทำไมต้องตรวจภายใน? ทำอย่างไรบ้าง?

ทำไมต้องตรวจภายใน? ทำอย่างไรบ้าง?

ทำไมต้องตรวจภายใน? ทำอย่างไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


เมื่อเอ่ยถึง “การตรวจภายใน” มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยละเลย บ่ายเบี่ยง หรืออายที่จะตรวจ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการตรวจภายในสามารถบอกได้ว่าบริเวณอวัยวะเพศของคุณมีอะไรผิดปกติหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยร้ายของผู้หญิง "มะเร็งปากมดลูก"



ซักประวัติ 

ก่อนที่หมอจะบอกได้ว่า โรคหรือปัญหาที่อวัยวะเพศของคุณเป็นอะไร จำเป็นจะต้องซักถามประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นเสียก่อน จึงจะบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร บางรายซักก็แล้วตรวจก็แล้ว ยังบอกไม่ได้   ต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการตรวจถึงจะได้คำตอบก็มี

การซักประวัติ ส่วนมากหมอจะถามว่าเป็นอะไรมา เป็นมาอย่างไร ตอนนี้อายุเท่าไรแล้ว มีลูกกี่คน คุมกำเนิดอย่างไร บางรายอาจต้องถามละเอียดมากกว่านี้ จนคนไข้บางคนคิดว่าหมอจะมาล้วงความลับก็มี เช่น ถามว่าเวลามีเพศสัมพันธ์แล้วเจ็บไหม มีเพศสัมพันธ์บ่อยแค่ไหน การที่ต้องถามเช่นนี้ก็เพื่อจะได้ข้อมูลมากพอที่จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องมากขึ้น

การตรวจภายใน  

ภายหลังการซักประวัติคนไข้  สิ่งจำเป็นที่หมอจะต้องทำต่อคือ ”ตรวจภายใน”  คุณผู้หญิงบางคน  พอหมอบอกว่า”ต้องตรวจภายในครับ” ก็อิดออดต่อรองขอตรวจด้วยวิธีอื่นแทนได้ไหม เช่น ตรวจด้วยเอ็กซเรย์ หรือ อัลตราซาวน์แทนไม่ได้เหรอ จากนั้นจะมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้น ตั้งแต่กลัวจนตัวสั่น เสียงสั่น บางคนเหงื่อแตกเลยก็มี  หรือไม่ก็อิดออดขอกลับบ้านไปทำใจก่อน อาจเพราะอาย ตั้งแต่เป็นสาวมาจนวัยกลางคน  ยังไม่เคยให้ใครมากล้ำกลายอวัยวะเพศเลย ซ้ำร้ายบางคนสัญญากับตัวเองเลยว่า “ยังไงเสียก็จะไม่ตรวจภายใน ตายเป็นตาย” แต่เอาเข้าจริงๆ ส่วนมากไม่ค่อยยอมตายหรอก แต่กว่าจะตรวจได้ก็ปล่อยให้โรคเป็นไปมากจนเจ็บปวดทนไม่ไหวจึงยอมตรวจ 

จากการสังเกตของหมอพบว่า เดี๋ยวนี้แทนที่สาว ๆ จะอาย กลับเป็นคนที่ค่อนข้างสูงอายุที่อายมากและอิดออดไม่ยอมตรวจ ยิ่งเป็นคุณย่าคุณยายยิ่งอายหนักเข้าไปอีก ส่วนสาว ๆ พอบอกว่าต้องตรวจภายใน หลายคนรีบขึ้นเตียงตรวจเลยก็มี บางคนหมอซักประวัติดูแล้ว คิดว่ายังไม่น่าจะต้องตรวจหรอกก็กลับเซ้าซี้ให้หมอตรวจก็มีเหมือนกัน

ตรวจภายในบอกอะไร  

โรคของอวัยวะเพศหญิง มีลักษณะของแต่ละโรคที่ไม่เหมือนกัน โรคบางโรค เช่น เนื้องอกมดลูกหรือเนื้องอกรังไข่ เวลาใช้เครื่องอัลตราซาวน์ตรวจ อาจสามารถมองเห็นเป็นภาพก้อนเนื้องอกได้ แต่บอกไม่ได้ว่าก้อนดังกล่าวกดเจ็บหรือไม่ ก้อนมีผิวเรียบหรือไม่ ขยับหรือเคลื่อนไหวได้หรือไม่ เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาหรือร้ายแรง จะรู้ได้ก็ต้องใช้การคลำด้วยมือเท่านั้น โดยการ“ตรวจภายใน” นั่นเอง  ซึ่งผลที่ได้จากการตรวจภายในร่วมกับการตรวจด้วยวิธีอื่น จะทำให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น 

 

ตรวจภายในทำอย่างไร 

  1. เมื่อจะต้องรับการตรวจภายใน คุณผู้หญิงจะต้องขึ้นนอนบนเตียงที่ออกแบบมาเพื่อตรวจภายในโดยเฉพาะ โดยจะมีที่รองขาหรือที่เรียก”ขาหยั่ง” เพื่อแยกขาให้ออกจากกัน ทำให้เห็นอวัยวะสืบพันธุ์ได้ชัดเจน  นึกภาพตามไปเรื่อยๆ นะครับ

  2. หมอจะใช้น้ำยาทำความสะอาดบริเวณปากช่องคลอด แล้วใช้ผ้าสะอาดคลุมบริเวณขาทั้ง 2 ข้างและหน้าท้องส่วนล่าง เหลือเปิดไว้เฉพาะบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ 

  3. เริ่มจากการตรวจดูบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ และอาจต้องใช้มือคลำว่ามีก้อนเนื้องอกบริเวณปากช่องคลอดด้วยหรือไม่ 

  4. จากนั้นใช้เครื่องมือถ่างขยายปากช่องคลอด ซึ่งทำด้วยเหล็กใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อตรวจดูภายในว่ามีแผล มูกเลือดที่ปากมดลูกหรือช่องคลอดหรือไม่ รวมทั้งจะได้เช็คมะเร็งปากมดลูกไปด้วย 

  5. และปิดท้ายด้วยการสอดนิ้วมือของมือข้างหนึ่งเข้าไปในช่องคลอด และใช้นิ้วของมืออีกข้างหนึ่งกดที่หน้าท้องโดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย แล้วใช้มือทั้ง 2 ข้างร่วมกันในการคลำอวัยวะในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็นมดลูกหรือรังไข่ว่าโตผิดปกติไหม กดเจ็บไหม มีถุงน้ำหรือเนื้องอกหรือเปล่า

ร่วมมือดี ตรวจได้ราบรื่น

การตรวจภายในจะเป็นไปอย่างราบรื่น ถ้าคุณผู้หญิงให้ความร่วมมือกับหมอซึ่งก็เพียงแค่นอนแยกขา แล้วปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็งหน้าท้อง ทั้งนี้เพื่อให้หมอตรวจดูปัญหาในช่องคลอดได้ง่าย เห็นชัดเจน  เพราะถ้าเกร็งแล้ว จะ

 

คลำอะไรไม่ได้เลย

คุณผู้หญิงหลายคน เมื่อหมออธิบายการตรวจภายในจนเข้าใจดีแล้ว แต่พอถึงเวลาตรวจเข้าจริงก็อดไม่ได้ที่จะมีสารพัดอาการ บางคนเอามือมาคอยปิดเวลาหมอจะตรวจ พอหมอหยุดตรวจก็หยุดปิด พอจะตรวจใหม่ก็ปิดใหม่ ทำเหมือนเล่นชักเย่อ บางคนก็นอนตัวแข็งเกร็งเหมือนหุ่นยนต์ บางคนก็บิดก้นหนีเวลาหมอจะตรวจ เหมือนเล่นเกมตำรวจจับขโมย บางคนก็ส่ายก้นไปมา หรือเลื่อนก้นขึ้นลงเหมือนนั่งม้าโยก ซึ่งทำให้การตรวจภายในยุ่งยาก และอาจทำให้ตรวจผิดหรือตรวจไม่ได้เลย ต้องบอกตรงๆ ว่าเสียเวลาทั้งคนไข้และหมอครับ

ทั้งนี้การตรวจภายใน หากพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ และได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องก็สามารถช่วยได้ครับ

 

 

___________________

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook