ไลฟ์สไตล์อันตรายที่อาจนำไปสู่ "มะเร็งเต้านม"
โรคมะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักการเสียชีวิตของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน แล้วคุณรู้รึเปล่าว่า ลักษณะนิสัยบางอย่างนั้น สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมให้กับคุณได้ บทความนี้จะมาเจาะลึกถึงไลฟ์สไตล์อันตราย ที่อาจนำคุณไปสู่โรคมะเร็งร้าย
การดื่มแอลกอฮอล์
จากข้อมูลทางระบาดวิทยา การดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมถึง 4% ในประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ทุกๆ 10 มล. ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คุณดื่มเข้าไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมขึ้น 10 % เท่ากับว่ายิ่งคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเท่าไหร่ โอกาสเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคมะเร็งเต้านม ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น
การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายต่างๆ รวมไปจนถึงโรคมะเร็งทั้งหลาย แน่นอนว่าโรคมะเร็งเต้านมนั้นก็ไม่เว้นเช่นกัน สารอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบอยู่ในบุหรี่ ทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ไฮโดรคาร์บอนที่ผสานเข้ากับความหลากหลายของลักษณะทางพันธุกรรม อาจสามารถทำให้เกิดการพัฒนาเซลล์มะเร็งเต้านมขึ้นในร่างกาย รายงานของ US Surgeon General เมื่อปี 2014 แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มีประวัติการสูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 10%
โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
การมีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน ในช่วงหลังจากหมดประจำเดือน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม ในช่วงหลังหมดประจำเดือน ก่อนที่คุณจะหมดประจำเดือนนั้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายส่วนใหญ่จะมาจากรังไข่ มีแค่ส่วนน้อยเท่านั้น ที่มาจากเนื้อเยื่อไขมัน แต่หากรังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือหลังจากหมดประจำเดือน เนื้อเยื่อไขมันจะกลายเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนแทน หากคุณมีชั้นไขมันในช่วงอายุนี้มาก ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของคุณ ก็จะยิ่งมากขึ้นตาม และสามารถนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีภาวะน้ำหนักเกิน มักจะมีค่าอินซูลินในเลือดสูง ซึ่งโรคมะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในมะเร็งที่มีความสัมพันธ์กับระดับของอินซูลินในเลือด
ขาดการออกกำลังกาย
การขาดการออกกำลังกาย เป็นสาเหตุโดยอ้อมของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โดยการออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันผู้หญิง จากโรคมะเร็งเต้านมในช่วงหลังหมดประจำเดือน ด้วยผลกระทบที่เกิดกับการเผาผลาญสเตอรอยด์ฮอร์โมน และอาการอักเสบในร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกาย และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยของ Women's Health Initistive (WHI) ในสหรัฐฯ แล้วว่า สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 25-30% การเดินเร็ว 1¼ ถึง 2½ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 18% ทำให้การออกกำลังกายได้รับการพิสูจน์ที่แน่ชัดแล้วว่า สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ การไม่ออกกำลังกาย จึงทำให้จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมนั่นเอง
การคุมกำเนิด
วิธีการคุมกำเนิดต่างๆ เช่น การกินยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด การฝังยาคุม การแปะแผ่นคุมกำเนิด และการใส่ห่วงคุมกำเนิด สามารถเชื่อมโยงกับเกิดมะเร็งเต้านมได้ มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ผู้หญิงที่มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีเหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้คุมกำเนิดอยู่เล็กน้อย นอกจากนี้ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะไม่เพิ่มขึ้น หลังจากที่หยุดคุมกำเนิดไป 5 ถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้