เตือนภัย! สารพัดโรคอันตราย พนักงานออฟฟิศเสี่ยง "ออฟฟิศซินโดรม"
ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า “กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม” (Office syndrome) คืออาการที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน ไม่มีการออกกำลังกายเป็นประจำ และมีสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสมการระบายอากาศไม่ดี ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ขึ้น
อาการของ ออฟฟิศซินโดรม
- กล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ
- ปวดหลังเรื้อรังจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา
- กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ง่วงนอน
- หากมีความเครียดจะส่งผลให้โรคนี้รุนแรงมากขึ้น เช่น เป็นไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดตา หน้ามืด
- อาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้
- กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ เนื่องจากการทำงานอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เครื่องปรับอากาศไม่สะอาด รวมไปถึงสารเคมีจากหมึกของเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟกซ์ และเครื่องพิมพ์เอกสาร ซึ่งวนเวียนอยู่ภายในห้องทำงานอีกด้วย
>> ปวดแบบไหน สัญญาณอันตราย “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”
>> "หมอนรองกระดูกคอเสื่อม" โรคฮิตของคนทำงาน
>> 5 พฤติกรรมเสี่ยง “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”
วิธีป้องกันออฟฟิศซินโดรม
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวถึงการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ว่าทำได้เพียงปรับเปลี่ยนอิริยาบถ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องให้ยาบรรเทาอาการหรือต้องได้รับการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้จัดตั้งคลินิกอาชีวเวชศาสตร์เพื่อให้การรักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน ซึ่งประชาชนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการออฟฟิศซินโดรม สามารถปรึกษาได้ที่คลินิกฯ หรือสอบถามได้ที่สายด่วน 02 517 4333 ในวันและเวลาราชการ