15 วินาทีในสนาม IRONMAN เสี้ยววินาทีที่สร้างบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญให้โย ยศวดี
กว่ายี่สิบปีบนเส้นทางนางแบบ โย-ยศวดี หัสดีวิจิตร ใช้ชีวิตอยู่บนแคทวอล์กทุกวันกับระยะทางเดินแค่ 20 เมตรโดยประมาณ มีรองเท้าส้นสูงเป็นเพื่อนสนิท และมีโจทย์หลักในการทำงานคือต้องเดินให้สวยสง่าที่สุดแต่ด้วยจุดเปลี่ยนเรื่องสุขภาพที่ทำให้เธออยากวิ่งเพื่อออกกำลังกาย ส่งผลให้โยเจอความสุขอีกด้านของชีวิตกับการใส่รองเท้าผ้าใบในฐานะ “นักไตรกีฬา” ที่เธอนิยามว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดในชีวิต
คำว่า “ดี” ถูกขยายความเพิ่มว่ามันดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ กลายเป็นคนที่หลับสนิท ไม่เป็นภูมิแพ้ และไม่มีอาการเสียงแหบกำเริบกลับมาอีกเลย
จากที่ตั้งใจแค่จะวิ่งให้ได้ในระยะมินิมาราธอนถูกพัฒนาสู่การวิ่งฮาล์ฟ พร้อมกับเลยไปถึงระยะมาราธอนภายในเวลาแค่ 6 เดือน ก่อนจะถูกป้ายยาให้ลงไตรกีฬาระยะสปรินท์ในปีเดียวกัน ซึ่งเธอไม่ใช่แค่ทำได้ แต่ทำได้ดีมาก ด้วยวินัยในการฝึกซ้อมอย่างหนัก 7 วันต่อสัปดาห์ วันนี้เธอสามารถพิชิตเส้นชัยกลายเป็น IRONMAN อย่างสมบูรณ์แบบกับระยะทาง Full IRONMAN ในสนามแฟรงก์เฟิร์ตประเทศเยอรมนี โดยในสนามนี้นักกีฬาจะต้องว่ายน้ำ 3.8 กิโลเมตร ขึ้นมาปั่นจักรยานอีก 185 กิโลเมตร และลงมาวิ่งต่ออีก 42.195 กิโลเมตร แม้โยจะออกตัวว่าวันนี้เธอยังไม่ใช่ IRONMAN เพราะเข้าสนามหลัง Cut Off 15 วินาทีทำให้ผลการแข่งขันออกมาเป็น DNF (Do not Finish)
“ตอนแรกก็เสียใจนะ เสียใจมากด้วย เพราะเราซ้อมมาหนัก แต่พอมานั่งทบทวนก็รู้ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ดังนั้นโยจะไม่ยอมให้ 15 วินาทีที่เกินมา มาทำลายความรู้สึกและกำลังใจที่เคยมีเด็ดขาด” และเพื่อพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง โยจึงตัดสินใจเตรียมซ้อมสู่สนาม Full IRONMAN อีกรอบในปลายปีนี้
จากรันเวย์สู่รันนิ่ง ชีวิตเปลี่ยนไปแค่ไหน
“ตั้งแต่มาเป็นนักกีฬาอาชีพน้ำหนักโยขึ้นมา 12 กิโล แต่เป็นช่วงที่น้ำหนักขึ้นแล้วมีความสุขที่สุด เพราะมันมาพร้อมกับความแข็งแรง โยไม่เคยป่วย ไม่เคยเป็นไข้ต้องเข้าโรงพยาบาล อาการภูมิแพ้ที่ทำให้เสียงแหบก็หายขาด”
ไม่ใช่แค่เฉพาะร่างกายเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง แต่ความคิดภายในของโยก็เปลี่ยนไป
“เมื่อก่อนในฐานะนางแบบ เราแค่มีบุคลิกที่ดี มีหน้าตาที่ดี มีหุ่นที่ดี เราก็ได้รับโอกาสตรงนั้นแล้ว แต่พอมาอยู่ในสนามกีฬา หน้าตาหรือหุ่นที่ดี มันไม่ได้ทำให้คุณชนะ แต่การฝึกฝนอย่างหนัก มีวินัยในการฝึกซ้อม และการรู้จักประเมินตัวเองตลอดระยะเวลาการแข่งขัน ค่อยเป็นค่อยไป ทำตามที่ซ้อมมาอย่างเป็นระบบต่างหากที่จะทำให้คุณชนะ”
เมื่อก่อน โย ยศวดีอาจจะเป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องเมกอัพและความสวยความงาม แต่ไตรกีฬาได้เปลี่ยนให้เธอเป็นผู้หญิงที่เปลี่ยนยางจักรยานเป็น ประกอบจักรยานทั้งคันได้ และ รู้วิธีเอาตัวรอดในทะเล “ไตรกีฬาเป็นกีฬาที่เราเล่นคนเดียว อยู่กับตัวเองเป็นหลัก ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระสนามก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้”
เปิดตารางซ้อมเจ็ดวันของโย ยศวดี
พูดถึงเรื่องการฝึกซ้อม คุณฝึกหนักแค่ไหน “หนักมาก” เธอลากเสียงยาว ก่อนจะอธิบายเพิ่มว่า “ฟูลไอรอนแมนครั้งที่ผ่านมาซ้อมเกือบ 5 เดือน เพราะโยเชื่อว่าทุกการแข่งขันใช้ใจอย่างเดียวไม่พอ ยิ่งถ้าเป็นไอรอนแมนด้วยแล้ว อย่าคิดจะไปด้วยใจเด็ดขาด มันไม่ใช่การออกกำลังเพื่อสุขภาพ ดังนั้นถ้าซ้อมไปไม่พอ มันจะกลายเป็นการทำลายตัวเอง”
“ในหนึ่งสัปดาห์ โยซ้อม 6 วัน จันทร์คือวันพัก อังคารถึงพฤหัสจะซ้อมเช้าเย็น ถ้าเช้าว่ายน้ำเย็นก็วิ่ง ถ้าเช้าวิ่งเย็นก็ปั่น สลับกันไป ส่วนศุกร์จะซ้อมแค่อย่างเดียวเพื่อเก็บแรงไว้ Long Ride 180 กิโลวันเสาร์ และ Long Run 21 กิโลวันอาทิตย์”
อาวุธสำคัญอยู่ที่จักรยาน
ถึงแม้ไตรกีฬาจะต้องฝึกให้เชี่ยวชาญทั้งว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง แต่อาวุธสำคัญของโย ยศวดีอยู่ที่จักรยาน
“ไตรกีฬา ไม่มีทางลัด ต้องซ้อม ต้องกล้าที่จะเหนื่อย ถึงจะชนะได้” คำว่าชนะของผู้หญิงคนนี้ ไม่ได้หมายถึงการชนะคู่แข่งในสนาม แต่หมายถึงการชนะตัวเอง “การทำตัวเองให้เร็วขึ้นแค่ 1 หรือ 2 วินาที มันต้องใช้เวลาฝึกกันเป็นปี ซึ่งไม่รู้จะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้าย บังเอิญโยเจ็บจนวิ่งไม่ได้ ทำให้ต้องหันมาซ้อมปั่นจักรยานสัปดาห์ละ 450 กิโลเมตรแทน ทั้งปั่นแบบยืนระยะ ปั่นเพื่อสร้างความเร็ว และปั่นเพื่อ Recovery ร่างกาย กลายเป็นว่าความอึดบนจักรยานโยเพิ่มขึ้นแบบไม่รู้ตัว แต่นั่นก็แลกมากับความเหนื่อยแทบขาดใจเลยนะ”
กินดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
การบริหารเรื่องกินของโยถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ก่อนแข่ง ระหว่างแข่ง และหลังแข่ง “ก่อนแข่งต้องกินให้พอ และระหว่างซ้อมก็ต้องฝึกกินไปด้วยเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพ แต่ถ้าเป็นจักรยานแค่ฝึกกินอย่างเดียวไม่พอ ต้องฝึกรับน้ำทั้งมือซ้ายและขวาให้ชินด้วย เพราะในสนามต่างประเทศจะส่งน้ำสลับทางกับในไทย”
“ก่อนแข่งสองวัน โค้ชจะเน้นหนักเรื่องเกลือแร่กับโยมาก ต้องกินเช้าเย็นวันละสองขวดเพื่อป้องกันการขาดน้ำในร่างกาย”
“ในวันแข่งจริง รวมถึงวันซ้อม โยจะจิบเกเตอเรดทุกสองกิโล ซึ่งประโยชน์ของการเติมเกลือแร่ให้ร่างกายแยกย่อยออกได้เป็น 5 ข้อ”
“ข้อแรกคือป้องกันการเกิดตะคริว ข้อที่สองคือช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกาย ข้อที่สามคือทำให้เลือดไหลเวียนอย่างเหมาะสม ข้อที่สี่คือควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ข้อที่ห้า ข้อนี่ถือว่าสำคัญมากสำหรับนักวิ่ง นักปั่นจักรยาน นักไตร และคนออกกำลังกายทุกคนคือเกลือแร่จะช่วยให้ไม่รู้สึกหมดแรง”
“และพอเข้าเส้นชัยโยก็จะกินเกเตอเรดเพื่อเติมเกลือแร่ให้ร่างกายอีกขวดทันที กล้ามเนื้อจะได้ฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว และร่างกายจะได้ไม่รู้สึกล้า”
เคล็ดลับการเลือกเกลือแร่ฉบับโย ยศวดี
เลือกเกลือแร่อย่างไรให้แน่ใจว่าดี “โยเป็นคนไม่สุ่มสี่สุ่มห้านะ ยิ่งพอมาเป็นนักกีฬาก่อนกินอะไรทุกครั้งจะอ่านส่วนประกอบเสมอ เกลือแร่ก็เหมือนกัน โยต้องการเกลือแร่ที่มีคุณสมบัติช่วยชดเชยน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปกับเหงื่อเร็วเทียบเท่ากับน้ำ และเติมเต็มพลังงานให้กับร่างกายได้ทันที ซึ่งทั้งหมดมีอยู่ในเครื่องดื่มเกลือเเร่เกเตอเรด”
เกลือแร่เกเตอเรด ประกอบไปด้วย
- น้ำ เพื่อเติมสมดุลในร่างกาย
- เกลือเเร่ เพื่อเติมเต็มเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับเหงื่อ
- คาร์โบไฮเดรต 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในระดับที่ร่างกายสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้เร็วและแปลงเป็นพลังงานนำไปใช้ได้ทันที
“ที่สำคัญรสชาติอร่อยด้วยนะ” โยเล่าพร้อมจิบเกเตอเรดตามทันที
“จริงๆแล้ว เกลือแร่กินได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกคนเลยนะ ไม่ใช่เเค่เฉพาะนักกีฬา เพราะเกลือแร่ น้ำ
และพลังงานเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย ส่วนนักกีฬาเองก็ไม่ต้องรอให้เหงื่ออกหรือต้องเหนื่อยมากๆ ค่อยดื่ม แต่ดื่มได้ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังออกกำลังในปริมาณที่พอเหมาะ เหมือนที่โยทำเป็นประจำ”
ความสุขที่สุดของการออกกำลังกาย
“แปลกที่ความสุขของโย ไม่ใช่ร่างกายที่แข็งแรงขึ้น การทำเวลาได้เร็วกว่าเดิม หรือการพิชิต IRONMAN แต่มันคือการได้เห็นพี่เอ (อัญชลี หัสดีวิจิตร) มาออกกำลังกายจริงจัง และตอนนี้ก็แข่งไตรกีฬาแล้วด้วย รวมทั้งหลานก็มาเล่นไปกับเรา ล่าสุดส่งไปลง IRONKID ที่ภูเก็ตก็ได้ถ้วย เข้าเป็นที่สอง เชื่อไหมว่าโยดีใจยิ่งกว่าตัวเองติดโพเดียมอีกนะ น้ำตาไหลเลย มันคือความสุขที่ได้เห็นคนที่เรารักแข็งแรงไปกับเราด้วย”
[Advertorial]