เตือน! เสี่ยง "กระดูกบาง" หากขาด "วิตามินดี"
- วิตามินดีช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหวและการทรงตัว สามารถลดอุบัติการณ์การหกล้มในผู้สูงอายุได้
- ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับหรือไต มีภาวะอ้วนดัชนีมวลกายมากกว่า 30 (BMI > 30) มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี
- เห็ดที่ได้รับแสงแดด ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี
เสี่ยงกระดูกบาง หากขาดวิตามินดี
ภาวะขาดวิตามินดี (Vitamin D deficiency) พบสูงขึ้นในทุกเพศ ทุกวัย และทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกบางร่วมด้วย
ภาวะขาดวิตามินดีจะมีผลกระทบโดยตรงกับความแข็งแรงของกระดูก ถ้าขาดอย่างรุนแรงในทารกจะก่อให้เกิดโรคกระดูกอ่อนชนิด Ricket สำหรับในผู้ใหญ่ถ้าขาดรุนแรงจะก่อโรคกระดูก Osteomalacia อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ขาดวิตามินดีมักจะขาดไม่รุนแรงส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยกว่า
ประโยชน์จากการเสริมวิตามินดี
มีการศึกษาพบว่าการเสริมวิตามินดีจะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้การทรงตัวและการทำงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหว และยังสามารถลดอุบัติการณ์การหกล้มในผู้สูงอายุได้ ที่สำคัญการได้รับวิตามินดีเพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหัก ซึ่งสำคัญมากโดยเฉพาะผู้สูงอายุเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อเกิดกระดูกหักแล้วจะมีผลกระทบตามมามากมาย เช่น อาการเจ็บปวดบริเวณตำแหน่งกระดูกหัก ทำให้การเคลื่อนไหวหรือการทำงานลดลง บางรายต้องนอนติดเตียงโดยเฉพาะผู้ที่มีกระดูกสะโพกหักซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น เกิดการติดเชื้อระบบต่างๆ ได้ง่าย และอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิต
ทราบได้อย่างไรว่ามีภาวะขาดวิตามินดี
ปัจจุบันเราสามารถตรวจวัดระดับวิตามินดีได้โดยการตรวจเลือดเพื่อหาระดับของวิตามินดี (25(OH) vitamin D) โดยมักจะแนะนำให้ตรวจในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะขาดวิตามินดี เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีปัญหากระดูกพรุน กระดูกบางหรือมีกระดูกหัก ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับหรือไตที่ทำให้กระบวนการสร้างวิตามินดีลดลง ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนดัชนีมวลกายมากกว่า 30 (BMI > 30) ผู้ที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดด เช่น ผู้ที่ใช้เวลาทำงานในตึกเป็นส่วนใหญ่ การทาครีมกันแดดเป็นประจำ เป็นต้น
ในประเทศไทย สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับภาวะขาดวิตามินดีไว้ว่า ภาวะขาดวิตามินดี คือผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 20 ng/ml และในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่น ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ควรมีระดับวิตามินดีอย่างน้อย 30 ng/ml ขึ้นไป
การเพิ่มระดับวิตามินดีในร่างกาย
แหล่งวิตามินดีตามธรรมชาติที่สำคัญคือการที่ผิวหนังได้รับแสงแดด ซึ่งจะมีรังสี Ultraviolet B (UVB) ทำให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีได้ โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเวลา 9.00-15.00 น. นอกจากนี้เรายังสามารถเพิ่มระดับวิตามินดีได้โดยการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เห็ดที่ได้รับแสงแดด และอาหารจำพวกปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน หรือการรับประทานไข่หรือนมที่มีการเติมวิตามินดี
ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีระดับวิตามินดีต่ำมาก หรือไม่สามารถปรับพฤติกรรมให้ได้รับวิตามินดีดังกล่าวข้างต้น แพทย์สามารถให้รับประทานวิตามินดีเสริมได้ (Vitamin D supplementation) ตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย