ปวดเข่า ไม่จำเป็นต้องเป็น "เข่าเสื่อม" เสมอไป
อาการปวดที่เข่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเข่าเสื่อมเสมอไป และไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น ทั้งวัยกลางคน นักกีฬา ผู้ที่บาดเจ็บจากการออกกำลังกายก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยจุดเริ่มต้นอาการอาจเริ่มจากปวดหลัง
ปวดก้น และลุกลามทำให้เกิดอาการปวดที่เข่า อาการปวดเข่าเช่นนื้จึงเกิดจากกล้ามเนื้อก้นอ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อที่สะโพกไม่สมดุล ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักอาการปวดเข่าในแบบต่างๆ ว่ามีอาการแตกต่างกันอย่างไร เพื่อจะได้หาทางแก้ไขให้ถูกต้นตอของปัญหา
คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ ผู้จัดการคลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้อธิบายอาการปวดเข่าว่า อาการปวดเข่ามีหลายแบบ ที่พบบ่อยคือ อาการปวดเข่าจากเข่าเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกล้ามเนื้อไม่สมดุล ซึ่งลักษณะอาการจะแตกต่างกัน คือ
- อาการปวดเข่าจากเข่าเสื่อม มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในผู้มีน้ำหนักตัวมาก ลักษณะอาการที่แสดงว่าเป็นโรคเข่าเสื่อม คือ
- มีอาการปวดเข่า โดยปกติจะปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือมีการเดินลงน้ำหนัก เมื่อพักจะดีขึ้น หากเป็นมากจะปวดตลอดเวลา
- ข้อติดแข็ง ส่วนมากจะพบในตอนเช้าเมื่อตื่นนอนใหม่ๆ หรือเมื่อพักในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ต่อเนื่องโดยไม่ได้ขยับ
- บวมรอบข้อ อาจพบร่วมกับอาการแดงและร้อนเมื่อลองคลำบริเวณรอบเข่า
- มีการผิดรูปของข้อเข่า ซึ่งเกิดจากผิวข้อ (Cartilage) บางลง แล้วตัวของกระดูกมีการเสียดสีกันจน เกิดกระดูกงอก ทำให้เข่าผิดรูปและขยาย ซึ่งพบว่าผู้ที่มีเข่าเสื่อมอย่างรุนแรง รอบข้อเข่าจะใหญ่ขึ้น
- มีเสียงดังภายในข้อเข่า ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นอาจมาจากการเสียดสีของผิวข้อภายในข้อเข่า
- อาการปวดเข่าจากกล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลกัน มักจะเกิดขึ้นกับนักกีฬาบางประเภท ที่ต้องใช้เข่ารับน้ำหนักมาก เช่น นักวิ่ง นักปั่นจักรยาน นักบาสเกตบอล นักฟุตบอล นักกอล์ฟ ฯลฯ ลักษณะอาการ คือ
- อาการปวดจะปวดเสียวแปล๊บๆ ด้านนอกหรือด้านในของข้อ หรือไม่ก็ด้านหน้าเข่าใต้ลูกสะบ้า ไม่ได้ปวดลึกๆ ลงไปในข้อเข่า
- อาการปวดมักร่วมกับอาการตึงร้าวจากต้นขาหรือข้อสะโพก
- อาการปวดจะชัดเจน หลังจากที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายมา
- อาการปวดเข่าจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย ทำงานอยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และอยู่ในอิริยาบถเดิมๆ เช่น นั่งต่อเนื่องนานๆ และหากอยู่ในอิริยาบถที่ผิดแล้วด้วย ก็มักทำให้เกิดอาการปวดได้ง่าย ลักษณะอาการสำหรับกลุ่มนี้ อาการปวดมักจะชัดเจนในขณะที่ต้องอยู่ในท่าทางเดิมต่อเนื่องนานๆ อาการจะดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถมีอาการปวดแบบล้าๆ เมื่อยๆ ไปทั้งขา มักเกิดร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อก้น ปวดข้อเท้าหรือน่อง
ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดเข่า ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ควรดูแลตนเองเบื้องต้นด้วยวิธีนี้ดังต่อไปนี้
- เมื่อเริ่มมีอาการปวดเข่า ให้สังเกตว่ามีอาการบวมแดงร้อนหรือไม่ หากมี ในวันแรกของอาการปวดควรประคบด้วยแผ่นเย็น และวางพาดขาให้สูง
- ท่าทางใดที่ทำให้ปวดควรหยุดทำท่านั้นๆ ก่อน จนกว่าอาการจะหายดี
- หลีกเลี่ยงการยืน เดินนานๆ เพราะจะทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักตัวตลอดเวลา และเพิ่มอาการบาดเจ็บมากขึ้น
หากดูแลตัวเองตามที่แนะนำข้างต้นแล้วภายใน 3-5 วันอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก่อนที่อาการจะลุกลามค่ะ