กินตามโซเชียลมีเดียต้องระวัง
ปัจจุบันเกิดกระแสการกินประหลาดๆ พิสดารที่ออกผ่านทางโซเชียลมีเดียกันอย่าง อึกทึกครึกโครม แพร่ระบาดไปทั่ว และเกิดขึ้นถี่ยิบจนสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค บางรายเกิดความเชื่อ แล้วนำไปกินไปปฏิบัติ แต่ไม่เห็นผลตามที่กล่าวอ้าง แถมบางรายเกิดผลเสียและอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งสูญเสียเงินทองไปมายมาก กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็สายไปแล้ว
จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า กระแสการกินนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร คนปล่อยข่าว ปล่อยเพื่ออะไร แล้วเราฐานะผู้บริโภคและผู้เสพข่าวทางโซเชียลมีเดีย จะปฏิบัติตนอย่างไร ตามผมมาได้เลยครับ
ตัวอย่างกระแสการกินที่ล่องลอยมาทางโซเชียลเน็ต เวิร์ก ได้แก่ กินน้ำผักปั่นรักษาโรค ดื่มน้ำมะนาวผสมโซดา กินทุเรียนลดน้ำหนัก น้ำมันหมูดีกว่าน้ำมันทุกชนิด น้ำมันพืชอันตรายให้เลิกใช้ ซดน้ำมันมะพร้าวสะเก็ดเย็นรักษาสารพัดโรค ดื่มนมเป็นมะเร็ง บอกวิธีลดน้ำหนักโดยไม่ต้องคุมอาหารและออกกำลังกาย
กินใบทุเรียนเทศรักษามะเร็ง กินไข่ได้วันละ 6 ฟอง กินคลีนลดน้ำหนัก กินอาหารเสริมเพิ่มความสูง กินน้ำผึ้งวันละหลายช้อนดีต่อสุขภาพ กินโน่นนี่นั่นทำให้เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เอาอาหารสารพัดชนิดมาจับคู่กันแล้วบอกห้ามไม่ให้กินจะเกิดผลร้ายต่อร่างกาย ระบุอาหารหลายชนิดว่ารักษาโรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ ดื่มน้ำมะพร้าวเยอะๆ ทำให้สุขภาพดี ดื่มน้ำชาเขียวป้องกันมะเร็งและอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะมากมาย
กระแสการกินดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะหลายสาเหตุ ที่สำคัญเป็นเพราะทุกวันนี้โรคที่เกิดจากการกินที่ไม่ถูกต้องตามหลัก โภชนาการ ระบาดอย่างแพร่หลาย จนเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์ล้มตายกันมากมาย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ไขมันในหลอดเลือด มะเร็ง เป็นต้น
พูดง่ายๆ ก็คือมนุษย์กลัวตาย เลยไปค้นหาอาหารที่คิดว่าสามารถป้องกันหรือและรักษาโรคดังกล่าวได้ แบบมั่วๆ เสียส่วนใหญ่ มีเรื่องจริง ที่ยอมรับได้น้อยมาก ด้วยเหตุผลนี้ที่ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจเรื่องสุขภาพด้านอาหารการกินมากขึ้น ถ้ามองในแง่ดีคนเริ่มมีความตระหนักรู้ด้านสุขภาพและโภชนาการ (Health&Nutrition concious) มากขึ้น
แต่พอจะแสวงหาความรู้ด้านสุขภาพและโภชนาการที่ถูกต้องน่าเชื่อถือกลับกลาย เป็นข้อมูลที่ผิดๆ ขาดวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ ระบาดออกมามากมาย
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง ธุรกิจอาหารและโภชนาการบางเจ้า ขาดศีลธรรม ขาดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ได้ปล่อยข้อมูลและข่าวความวิเศษด้านโภชนาการที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ตนเองออกมา สู่สาธารณะ แล้วเอาผลิตภัณฑ์ตัวเองออกขายสู่ตลาด เพื่อหวังกอบโกยเงินเข้ากระเป๋าเยอะๆ โดยปราศจากความรับผิดชอบชั่วดี ซึ่งส่วนมากเป็นข้อมูลที่ยังไม่ไดัรับการพิสูจน์จากงานวิจัยที่ชัดเจน จึงกลายเป็นข้อมูลขยะ
ในด้านนักวิชาการบางคนที่ทำการศึกษาวิจัยในห้องแล็บ ค้นพบโน่นนี่นั่น แต่เป็นเพียงการวิจัยเบื้องต้น ยังไม่ได้ทำการทดลองระยะยาวที่จะเกิดผลต่อคนหรือไม่ แล้วรีบปล่อยข้อมูลออกสู่สาธารณะ จนบางครั้งก็ไปเข้าทางให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารอาหารเหล่านั้นผสมอยู่ ขายดิบขายดีขึ้นมาทันตา
แต่ที่น่าห่วงมากสุดคือ เกิดนักโภชนาการเทียมขึ้นมาในสังคมไทยเยอะมาก ไม่ได้เรียนโภชนาการหรือเรียนมาบ้างแต่ไม่ลึกพอ พาเหรดออกมาให้ข้อมูลด้านโภชนาการผ่านโซเชียลมีเดียกันอย่างอิสระเสรี
จึงเกิดคำถาม จากผู้บริโภคว่า สรุปแล้วจะให้เขาเชื่อใคร ใครจะเป็นคนออกมารับรองความถูกต้องน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ระบาดผ่านโซเชีย ลมีเดีย แล้วอะไรคือข้อมูลที่ ถูกต้องที่จะนำไปปฏิบัติได้ คำถามเหล่านี้ ใครหรือหน่วยงานใดจะเป็นคนตอบ