“ภาวะตกเลือด” ระหว่างตั้งครรภ์ คืออะไร ปฐมพยาบาลอย่างไร
ช่วงเวลาที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่ควรระมัดระวังตัวเองให้มากที่สุด เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการผิดปกติจนอาจส่งผลต่อบุตรในครรภ์ได้ มีภาวะอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์อยู่หลายอย่าง โดยอาการที่พบได้ชัด คือการมีเลือดออกมาจากช่องคลอด อาจจะคลำเจอก้อนที่ท้อง และอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย หรือหน้ามือในขณะที่ลุกขึ้นยืน
นอกจากนี้ยังมีอาการ “ภาวะตกเลือด” ที่เป็นอีกหนึ่งภาวะอันตรายที่อาจสังเกตได้ไม่ชัดเจน และส่งผลถึงชีวิตของลูกน้อยในท้อง รวมถึงคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ด้วย
ภาวะตกเลือด คืออะไร?
ภาวะตกเลือด หรือเลือดตกใน คือภาวะฉุกเฉินที่มีเลือดออกจากเส้นเลือดภายในร่างกาย แต่ไม่ไหลออกมาภายนอกให้เห็นชัดเจน แต่จะทำให้คุณแม่เสียเลือดเป็นจำนวนมาก โดยที่เลือดไม่ได้ไหลออกมาให้เห็นได้จากภายนอก จึงเป็นภาวะอันตรายที่ต้องสังเกตอาการอื่นๆ ข้างเคียงให้ดี เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตคุณแม่ รวมถึงลูกน้อยในครรภ์ได้โดยไม่รู้ตัว
สาเหตุของภาวะตกเลือด ขณะตั้งครรภ์
ภาวะตกเลือดขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่เลือกออกจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก ที่อาจทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ หรืออวัยวะภายใน และ/หรือเส้นเลือดฉีกขาดจากความดันในเส้นเลือดสูง ความดันโลหิตสูง จนทำให้เส้นเลือดบางแห่งแตกได้ เป็นต้น
อาการของภาวะตกเลือด
- ซึม อ่อนเพลีย ซีด
- เหงื่อออก ตัวเย็น
- ชีพจรเต้นเบา และเร็ว
- หายใจเร็ว
- อาจหน้ามืด หรือเป็นลม หมดสติได้
การช่วยเหลือ ปฐมพยาบาลผู้ที่อนู่ในภาวะตกเลือด
- รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อเรียกทีมแพทย์ฉุกเฉินมารับผู้ป่วย และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
- ระหว่างรอทีมแพทย์ ให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ ยกเท้าขึ้นให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าศีรษะ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมอง และป้องกันอาการช็อก
- ห่มผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายผู้ป่วย
- คอยสังเกตชีพจร และการหายใจของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ถ้าหยุดหายใจควรรีบช่วยหายใจทันที
>> CPR ปั๊มหัวใจ ทำตอนไหน? ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง?
คุณแม่ที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ช่วงที่เริ่มตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ควรพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อเช็กสุขภาพทั้งตัวคุณแม่ และเด็กในครรภ์เรื่อยๆ ตามเวลาที่แพทย์นัด หากมีความผิดปกติก่อนเวลาแพทย์นัด ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้