“หินปูน” ในร่างกาย เกิดขึ้นได้อย่างไร? อันตรายหรือไม่?
หลังจากเข้ารับการตรวจสุขภาพช่วงครึ่งปีหลังกันมาบ้างแล้ว บางคนอาจพบว่าหินปูนอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านการตรวจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์ ไม่ว่าจะเป็นที่ตับ ปอด หรือที่ทรวงอก แม้ว่าแรกๆ จะพบว่ามีขนาดเล็กมากจนแพทย์ไม่ได้ลงมือทำการรักษาใดๆ ได้แต่ติดตามอาการไปเรื่อยๆ ปีต่อปี แต่อันที่จริงแล้วหินปูนเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นอันตรายต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน และมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดหินปูนเหล่านี้ในร่างกายได้หรือไม่ Sanook! Health หาคำตอบมาให้ทุกคนเรียบร้อยแล้ว
หินปูนในร่างกาย เกิดจากอะไร?
หลายคนอาจจะคุ้นหูกับคำว่าหินปูนจาก “คราบหินปูน” ที่ติดอยู่ที่ฟันในช่องปากของเรา เอาออกง่ายๆ ได้ด้วยกัน “ขูดหินปูน” โดยทันตแพทย์ แต่หากเป็นหินปูนที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ไม่ใช่ฟัน คงจะกำจัดออกได้ไม่ง่ายนัก
หินปูน เกิดจากการสะสมของแคลเซียมจนเป็นก้อนแข็งๆ ขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไปในแต่ละคน นายแพทย์โกมล ปรีชาสนองกิจ ศูนย์รักษ์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า หินปูน คือแคลเซียมที่เกิดจากความเสื่อมตามธรรมชาติ และเกิดจากการผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย อาจพบได้มากในผู้ที่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป
สาเหตุของการสะสมของแคลเซียมจนกลายเป็นก้อนหินปูนมีด้วยกันหลายสาเหตุ อาจเกิดจากการอักเสบของบริเวณนั้นจนทำให้เกิดเป็นรอยแผล จนมีแคลเซียมมาเกาะจนเป็นแผลเป็นเล็กๆ โดยเป็นกระบวนการของร่างกายที่ช่วยป้องกันไม่ให้ส่วนที่อักเสบเป็นแผลได้รับอันตรายเพิ่มเติม (เหมือนการเกิดสะเก็ดแผลเมื่อได้รับรอยขีดข่วนตามแขนขา) หรืออาจจะเกิดจากการสะสมของตะกอนที่มาจากน้ำย่อยที่ถูกใช้ไม่หมด เช่น หินปูนจากน้ำย่อยในถุงน้ำดีที่อยู่ในถุงน้ำดีนานเกินไป หรือใช้ไม่หมด เมื่อตกตะกอนเข้ามากๆ ก็อาจกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ เป็นต้น
>> ลดน้ำหนักไม่ถูกวิธี เสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี”
หินปูน อาจพบได้ในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ส่วนมากพบหลังจากเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น หินปูนในทรวงอก ปอด ตับ หรือพบหินปูนเกาะอยู่ตามเส้นเลือด เส้นประสาทในสมอง มดลูก กระดูก เส้นเอ็นและข้อ เช่น หัวไหล่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไหล่ติด ขยับได้ยาก เป็นต้น
หินปูน อันตรายจนอาจกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการนัดตรวจเพื่อติดตามผลเป็นระยะๆ ราว 1 ปีต่อครั้ง เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของก้อนหินปูนที่พบ มีหินปูนกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือก้อนหินปูนมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเปลี่ยนตำแหน่งหรือไม่ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า หากหินปูนมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง หรือเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ และมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกรายเสมอไป บางรายหินปูนอาจเล็กมาก และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จนไม่ต้องทำการรักษาใดๆ เลยก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางรายจากหินปูนอาจกลายเป็นมะเร็งได้ แต่หินปูนไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งได้โดยตรง (เพราะปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามะเร็งเกิดจากอะไรกันแน่) อาจเกิดจากเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวเร็ว และผิดปกติ เกิดเซลล์บางส่วนที่ตายไป จนทำให้มีแคลเซียมมาเกาะ จนทำให้พบเป็นจุดหินปูนเกิดขึ้น หากพบว่าจากหินปูนที่พบ กลายเป็นมะเร็งจริง เมื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีตั้งแต่ระยะแรกๆ โอกาสหายเป็นปกติก็ยิ่งมีสูง และวิธีที่รักษาก็หลากหลาย และทรมานน้อยกว่า เพราะอาจจะไม่ต้องรักษาด้วยวิธีการใช้เคมีบำบัดเหมือนมะเร็งระยะอื่นๆ ดังนั้นจึงสามารถผ่อนคลายความกังวลลงไปได้บ้าง
วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดหินปูน
เป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถควบคุมการเกิดของหินปูนในร่างกายได้ แต่เมื่อหินปูนเกิดจากการเกาะของแคลเซียมเมื่อพบเซลล์บางส่วนอักเสบ หรือตาย ดังนั้นการพยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บ หรืออักเสบตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งภายใน และภายนอกได้เช่นกัน แต่ที่สำคัญคือ เมื่ออายุเข้าสู่วัยทำงาน ควรเริ่มตรวจสุขภาพกับแพทย์เรื่อยๆ เพื่อเป็นการเช็กร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติใดๆ จะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง