ข้อควรรู้ก่อนผ่าตัด "ขากรรไกร" แก้ไขพูด-เคี้ยวผิดปกติ และเพิ่มความมั่นใจ

ข้อควรรู้ก่อนผ่าตัด "ขากรรไกร" แก้ไขพูด-เคี้ยวผิดปกติ และเพิ่มความมั่นใจ

ข้อควรรู้ก่อนผ่าตัด "ขากรรไกร" แก้ไขพูด-เคี้ยวผิดปกติ และเพิ่มความมั่นใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ แนะผ่าตัดขากรรไกรเป็นการแก้ไขความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรและใบหน้า ช่วยทำให้ขากรรไกรและฟันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสวยงามและสร้างความมั่นใจ

 

ผ่าตัดกระดูกขากรรไกร

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรและใบหน้า เช่น ขากรรไกรบนยื่นออกมามาก คางยื่นออกมามาก คางถอยหรือคางเล็กมาก ขากรรไกรล่างหรือฟันหน้าล่างคร่อมฟันบนมาก หน้าเบี้ยว ยิ้มแล้วเห็นเหงือกเยอะ อาจพบความผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือภายหลังที่ร่างกายเจริญเติบโต ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร การเคี้ยว การพูดที่ลำบาก และอาจทำให้เกิดความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร 

ปัญหาดังกล่าวสามารถรักษาโดยวิธีการผ่าตัดแก้ไขขากรรไกรให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถเคี้ยวอาหาร พูด และหายใจเป็นปกติ ทั้งนี้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัย สวยงาม และสร้างความมั่นใจให้แก่ตนเอง

 

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดขากรรไกร

ทันตแพทย์บุญชู สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่มีความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรและจำเป็นต้องได้รับการรักษา ควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี และขากรรไกรหยุดการเจริญเติบโตแล้ว โดยในเพศหญิงควรมีอายุ 17 ปีขึ้นไป ส่วนเพศชายควรมีอายุ 19 ปีขึ้นไป แพทย์จะแนะนำและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ระยะเวลาการฟื้นตัวหลังผ่าตัด รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจซึ่งอาจไม่คุ้นชินกับรูปหน้าใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ก่อนการผ่าตัดขากรรไกร

สำหรับการรักษาจะเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างทันตแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขา เช่น จัดฟัน ศัลยกรรมช่องปากและแมกซิลโลเฟเชียล โรคเหงือก รวมถึงทันตแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพฟันโดยรวมของคนไข้  เพื่อพิจารณาถึงเทคนิคการผ่าตัดและจัดตำแหน่งขากรรไกรที่เหมาะสมตรงตามความต้องการของคนไข้ และในบางรายจะเป็นการรักษาควบคู่กับการจัดฟัน

 

หลังการผ่าตัดขากรรไกร

ทั้งนี้การผ่าตัดขากรรไกรจะช่วยปรับลักษณะของขากรรไกรและฟันให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสวยงามของกราม ช่องฟัน และใบหน้าโดยรวมให้สมส่วนยิ่งขึ้น ภายหลังการผ่าตัดในช่วงแรกผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไม่ควรรับประทานอาหารที่ต้องเคี้ยว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการสบของฟัน แต่หากการสบฟันมีการเปลี่ยนแปลง ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook