โรคข้ออักเสบ ยิ่งอ้วนยิ่งรุนแรง
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคข้ออักเสบเกิดจากการเสื่อมสภาพตามปกติของข้อต่อ หรือเกิดจากการบาดเจ็บ อักเสบ ติดเชื้อ หรือไม่ปรากฏสาเหตุแน่ชัด สำหรับคนที่อ้วนมากๆ จะเคลื่อนไหวลำบาก ความอ้วนจะทำให้หลัง สะโพก หัวเข่า และเท้าต้องรับภาระจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ข้ออักเสบมีอาการรุนแรงขึ้น
โรคข้ออักเสบที่พบทั่วไป คือ โรคข้อเสื่อม เกิดจากข้อต่อเสื่อมสภาพตามปกติ และเกิดจากเอนไซม์ขาดสมดุล พบบ่อยในคนอายุ 50 ปี ขึ้นไป และไม่ค่อยพบในคนหนุ่มสาว ยกเว้นถ้ามีอาการบาดเจ็บที่ข้อต่อ โรคข้ออักเสบส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรื้อรังหรืออาจเป็นไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย
ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ แต่ข้ออักเสบบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งอาการของโรคข้ออักเสบที่สำคัญคือ มีข้อบวมเป็น ๆ หาย ๆ ในข้อหนึ่งข้อใด มีอาการแดงหรือร้อนบริเวณข้อ ข้อฝืดขัดเป็นเวลานานในตอนเช้า ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อได้เป็นปกติ
มีไข้ น้ำหนักลด หรืออ่อนแรง ถ้ามีอาการดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งเป็นครั้งแรก และเป็นนานกว่าสองสัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยแยกโรคข้ออักเสบแต่ละชนิดออกจากกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
สำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบมีเป้าหมายคือลดอาการปวดเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่ การรับประทานยาแก้ปวดลดการอักเสบ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด แพทย์จะเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยพิจารณาจาก ชนิดของข้ออักเสบ ความรุนแรงและลักษณะของผู้ป่วย การใช้อุปกรณ์ เช่น ไม้เท้า เฝือกชั่วคราว
รวมถึงฝึกการใช้ข้อในชีวิตประจำวันให้ถูกวิธี เพื่อช่วยลดแรงที่กระทำต่อข้อ ป้องกันไม่ให้ข้อต้องทำงานมากเกินไป การบริหารและการทำกายภาพบำบัด เช่น การประคบด้วยความร้อน การผ่าตัด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น มีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหรือกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมาก และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ เช่น การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแนวของข้อ ผ่าตัดใส่ข้อเทียม เป็นต้น
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีปฏิบัติตนให้ห่างไกลโรคข้ออักเสบ คือ ควรนั่ง ยืน เดิน ให้น้ำหนักตัวถ่ายเทไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างสมดุล เช่น ถ้าจะยกของหนักก็ควรใช้มือทั้งสองข้างยกขึ้นพร้อมกัน ใช้ไม้เท้าหรือไม้ค้ำยันช่วยเดิน ไม่ควรใช้มือผลักประตูที่หนาและมีน้ำหนักมาก ควรใช้ตัวผลักเข้าไปแทน หรือถ้าต้องหยิบของที่ตกพื้น ควรใช้วิธีย่อตัวลงและหยิบของโดยรักษาหลังให้ตรงอยู่เสมอ
อย่าใช้มือกำหรือจับอะไรที่ทำให้ข้อต่อนิ้วตึง เช่น เลิกใช้กระเป๋าแบบที่ต้องถือด้วยมือ มาใช้กระเป๋าสะพายแทน และในช่วงที่ทำงานนานๆ ควรพักเป็นระยะ เพื่อยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ที่สำคัญควรออกกำลังโดยการเคลื่อนไหว กลุ่มกล้ามเนื้อใหญ่สัก 15-20 นาที ด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เบื้องต้น ได้แก่ การเดิน การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ และการเต้นรำ เพื่อสร้างความแข็งแรงและเสริมความทนทานให้กล้ามเนื้อ