“ผอมแต่มีพุง” (Skinny Fat) คืออะไร ออกกำลังกายอย่างไรดี ?
ผอมแต่มีพุง หรือที่เรียกกันว่า Skinny Fat เป็นภาวะที่หลายคนเผชิญ แม้ว่ารูปร่างโดยรวมจะดูสมส่วน และน้ำหนักไม่ได้เกินมาตรฐาน แต่กลับมีปัญหาเรื่องพุงที่ยื่นออกมา ซึ่งสร้างความไม่มั่นใจและอาจกระทบต่อการแต่งกาย คนในกลุ่มนี้มักจะมีแขนขาเล็กเพรียว ใบหน้าดูไม่อ้วน แต่กลับมีปัญหาที่พุงซึ่งไม่เรียบแบนเหมือนที่ต้องการ
แม้จะดูเหมือนว่าคนผอมจะมีข้อได้เปรียบมากกว่าคนอ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพที่เสี่ยงต่อโรคน้อยกว่า หรือสามารถเลือกสวมเสื้อผ้าได้หลากหลาย แต่สำหรับคนที่ผอมแต่มีพุง การจัดการกับปัญหานี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย การลดขนาดพุงโดยไม่ทำให้ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้รับผลกระทบมากเป็นเรื่องที่หลายคนพยายามค้นหาวิธีการที่เหมาะสมและได้ผล
สาเหตุของการเป็นคน ผอมแต่มีพุง (Skinny Fat)
- ทานอาหารที่มีปริมาณของน้ำตาลมากเกินไป บางครั้งการเป็นคนที่มีรูปร่างผอม ทานเท่าไรก็ไม่อ้วน จึงอาจทำให้เผลอตามใจปาก ทานอาหารหวานมากเกินไป ยิ่งเห็นว่าทานแล้วรูปร่างยังผอมอยู่ น้ำหนักยังขึ้น จึงทานอาหารหวานมากยิ่งขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาหารหวานอย่าง ขนมปังเบเกอรี่ หรือน้ำแข็งไส บิงซู ขนมไทยต่างๆ เป็นอาหารที่ทำให้เกิดไขมันสะสมที่ท้องได้ง่ายกว่าอาหารไขมันสูงเสียอีก
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการท้องบวมท้องยื่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะเครื่องดื่มอย่าง วิสกี้ เบียร์ ไวน์ วอดก้า หรือค็อกเทล เป็นเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดการสะสมไขมันไว้ที่หน้าท้องได้มากเช่นกัน
- การอดอาหารอย่างกะทันหัน หรือทานอาหารน้อยเกินไป ไม่ได้ช่วยลดไขมันในร่างกายแต่อย่างใด แต่อาจจะทำให้ร่างกายไปดึงพลังงานจากกล้ามเนื้อมาใช้แทน ทำให้กล้ามเนื้อฟีบเล็กลง ร่างกายขาดความแข็งแรงไปมากกว่าเดิมเสียอีก
- การออกกำลังกายอย่างไม่ถูกวิธี นั่นคือการออกกำลังกายมากเกินไป บวกกับการรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายน้อยเกินไป อาจทำให้ร่างกายไปดึงพลังงานจากมวลกล้ามเนื้อมาใช้ในการออกกำลังกายแทนการดึงเอาไขมันส่วนเกินมาใช้นั่นเอง ดังนั้นอย่าลืมว่า หากคิดจะออกกำลังกาย การรับประทานอาหารให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอต่อการออกกำลังกาย ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
วิธีออกกำลังกายของคนที่ ผอมแต่มีพุง
การดูแลตัวเองสำหรับคนที่ผอมแต่มีพุง หรือ Skinny Fat นั้น จำเป็นต้องผสมผสานทั้งการออกกำลังกายที่เน้นการเผาผลาญไขมันเฉพาะจุด และการควบคุมอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการในการลดพุงและรักษารูปร่างที่สมส่วนอย่างยั่งยืน
-
การเล่นเวทเทรนนิ่ง (Weight Training) ควรเน้นการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงทั่วร่างกาย ไม่จำเป็นต้องเน้นที่หน้าท้องเพียงอย่างเดียว เช่น การยกดัมเบลหรือการทำสควอท การสร้างกล้ามเนื้อช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันและทำให้รูปร่างกระชับมากขึ้น
-
การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ HIIT (High Intensity Interval Training) วิธีนี้ช่วยเผาผลาญพลังงานและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังกายแบบหนักสลับเบาในช่วงเวลาที่กำหนด การออกกำลังกาย HIIT ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 20-30 นาทีต่อครั้ง แต่มีประสิทธิภาพสูงในการลดไขมัน อย่างไรก็ตาม ควรเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ควรทำเกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ
ข้อปฏิบัติอื่นๆ ของคนที่ ผอมแต่มีพุง
นอกจากการออกกำลังกายที่เหมาะสมแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมด้วย
- การทานอาหาร อาจจะไม่ถึงกับต้องนับแคลอรี่เหมือนกับคนที่อยากจะลดน้ำหนักอย่างจริงจัง แต่เพียงแค่ลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูงลง เช่น เครื่องดื่ม และขนมหวาน รวมถึงคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ เช่น ข้าวขาว แป้งขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว แป้งพิซซ่า รวมไปถึงอาหารประเภททอด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เพิ่มการทานอาหารประเภทโปรตีนให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรงได้มากขึ้น (ยิ่งได้ผลดีเมื่อออกกำลังกายไปด้วย) เน้นการทานปลา ไข่ขาว เนื้อไก่ เป็นต้น
- หากเป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว อาจจะต้องปรึกษาเทรนเนอร์ หรือหาความรู้เพิ่มเติม ว่าการออกกำลังกายของเรามีข้อผิดพลาดตรงส่วนไหนหรือไม่ มีส่วนที่ควรต้องเน้นมากกว่าเดิมหรือไม่
- อย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากร่างกายอ่อนล้าเกินไป นอกจากจะออกกำลังกายไม่ไหวแล้ว การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอก่อให้เกิดอาการเครียด อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นสาเหตุของไขมันสะสมที่พุง
ผอมแต่ลงพุง เสี่ยงเกิดโรคอะไรได้บ้าง
การมีรูปร่างผอมแต่มีพุง หรือ Skinny Fat อาจดูเหมือนสุขภาพดี แต่จริง ๆ แล้วเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น
- ภาวะไขมันในเลือดสูง : ไขมันสะสมในหลอดเลือดและช่องท้องอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
- โรคความดันโลหิตสูง : ความดันโลหิตสูงจากการสะสมไขมันในเลือด สามารถก่อให้เกิดโรคหัวใจและโรคไตตามมา
- โรคไทรอยด์ : ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ มีผลต่อระบบเผาผลาญและทำให้เกิดพุง
- โรคกระดูกพรุน : คนผอมแต่มีพุงอาจมีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ ทำให้กระดูกเปราะและแตกหักง่าย
- โรคเบาหวาน : แม้จะผอม แต่มีความเสี่ยงเกิดเบาหวานจากการทำงานที่ผิดปกติของอินซูลิน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด : ผู้ที่มีพุงมักมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าปกติถึง 5 เท่า
อ่านเพิ่มเติม