อันตรายจากการทาน "ยาสมุนไพร" รักษา "โรคไต"
ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันได้มีการโฆษณาถึงสรรพคุณของยาสมุนไพรหลายชนิดว่าสามารถรักษาโรคไตเรื้อรังให้ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นปกติได้ รวมถึงสามารถรักษาโรคร่วมอื่นๆ ที่พบในผู้ป่วยโรคไต เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยง่าย ทำให้คนไข้อาจจะมีความสงสัยอยู่ว่า เขาสามารถจะลองใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรต่างๆ เพื่อช่วยรักษาโรคไตของเขาได้หรือไม่? จะมีข้อเสียอะไรหรือเปล่า?
ยาสมุนไพร กับการรักษาโรคไต
ในประเด็นนี้ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ ได้แก่ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ขอยืนยันว่า ในปัจจุบัน ยังไม่มีสมุนไพรชนิดหรือตำรับใดได้รับการบรรจุไว้ใน “รายการยาจากสมุนไพรของบัญชียาหลักแห่งชาติ ในข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไต” หมายความว่า ยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้
อันตรายของยาสมุนไพรที่มีต่อไต
ไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่างๆ ได้ง่าย เนื่องจากสารต่างๆ มาที่ไตในปริมาณและความเข้มข้นที่สูงกว่าอวัยวะอื่นๆ จึงมีโอกาสเกิดพิษจากยาสูง โดยยาแผนปัจจุบันจะมีข้อมูลของขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายให้แพทย์เลือกใช้ทำให้มีโอกาสเกิดพิษต่อไตน้อย ในขณะที่ยาสมุนไพรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเหล่านี้ชัดเจน นอกจากนี้สมุนไพรยังอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interaction) กับยาประจำที่แพทย์สั่งซึ่งอาจลดประสิทธิภาพหรือเกิดพิษของยาขึ้นได้ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในท้องตลาดมักมีมากกว่าหนึ่งชื่อ ซึ่งมักจะไม่ได้ระบุองค์ประกอบ ปริมาณและสัดส่วนของสารต่างๆ เอาไว้ ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมีองค์ประกอบที่อาจเป็นพิษต่อไตด้วยหรือไม่
โดยสรุป การใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อรักษาโรคไตหรือรักษาโรคร่วมอื่นๆ ที่พบในผู้ป่วยโรคไตนั้น ไม่ได้มีข้อมูลรองรับที่เพียงพอ และอาจทำให้เกิดผลเสียได้หากนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคไต จึงควรหลีกเลี่ยง โดยหากจะมีการนำมาใช้จริงควรจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลตามหลักวิชาการเสียก่อน ซึ่งจะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ โดยเฉพาะการวิจัย ที่ทำให้แน่ใจถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัย
พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า ยังไม่มีสมุนไพรตัวใด ที่มีการวิจัยในมนุษย์โดยวิธีการวิจัยที่เหมาะสม แล้วสามารถพิสูจน์ได้ว่าช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น และยังต้องระวังการใช้สมุนไพรที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการใช้สมุนไพรผิดชนิดและมีสิ่งหรือสารปนเปื้อน เช่น สเตียรอยด์ สารหนู แคดเมียม ซึ่งอาจมีผลต่อโรคไต
นอกจากนี้ยังมีพืชหรือสมุนไพรอีกหลายประเภท ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคไต เช่น
- มะเฟือง จะมีกรดออกซาเลต ไปจับกับแคลเซียมที่ไต แล้วอาจเกิดอาการไตวายเฉียบพลันได้
- สมุนไพรอีกหลายชนิดมีปริมาณกรดออกซาเลตอยู่มาก เช่น โกฐน้ำเต้า ตะลิงปลิง ป่วยเล้ง และ แครนเบอรี่ หากรับประทานในปริมาณมากๆ อาจทำให้เกิดนิ่วในไต และมีผลการทำงานของไตผิดปกติ
- จากข้อมูลรายงานจากต่างประเทศพบว่า สมุนไพรอย่าง ไคร้เครือ ปัจจุบันห้ามใช้แล้วทั่วโลกเนื่องจากมีข้อมูลยืนยันแล้วว่า ทำให้เกิดไตวายและเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย
ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับยาสมุนไพรรักษาโรคไต ในอินเตอร์เน็ต
ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัย อายุรแพทย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรรักษาโรคไตมาจากหลายแหล่ง โดยเฉพาะมาจากทางสื่อออนไลน์ ยกตัวอย่าง เช่น
- หากต้องการหายจากโรคไตให้เอาเซี่ยงจี๊มาต้มกับน้ำแล้วดื่มอย่างน้อยวันละสามแก้ว ตรงนี้เป็นการบอกเล่าที่ผิด ปกติคนป่วยเป็นโรคไตไม่ให้กินเครื่องในสัตว์เยอะ เพราะมันมีเกลือแร่และกรดยูริกค่อนข้างมาก แต่ได้มีการแชร์ต่อไปเรื่อยๆ พอคนที่เป็นโรคไต ไปรับประทานอาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำ น้ำท่วมปอด เกิดอันตรายได้
- เห็ดหลินจือ เป็นสมุนไพรจีนที่ดังมากในแง่ของการมีคุณสมบัติบำรุงไต แต่จริงๆ แล้วข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนยังมีค่อนข้างน้อย และมีข้อมูลพบว่าผู้ป่วยบางรายที่รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่ทำมาจากเห็ดหลินจือบ่อยๆ อาจพบอาการของโรคตับ และไตวายมากขึ้นได้ อีกทั้งเห็ดหลินจือยังมีราคาแพงอีกด้วย
- มะม่วงหาว มะนาวโห่ สมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีความเชื่อว่าเป็นยาต้านอนุมูลอิสระ สรรพคุณจะช่วยป้องกันเซลล์มะเร็ง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต อาจมีผลทำให้ไตขับสารโพแทสเซียมออกมาไม่ทัน ส่งผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจเสียชีวิตได้