ผู้หญิง "อ้วน" เสี่ยง "ถุงน้ำรังไข่" และเมตาบอลิกผิดปกติ

ผู้หญิง "อ้วน" เสี่ยง "ถุงน้ำรังไข่" และเมตาบอลิกผิดปกติ

ผู้หญิง "อ้วน" เสี่ยง "ถุงน้ำรังไข่" และเมตาบอลิกผิดปกติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อ้วนขึ้นรึเปล่า? คำทักเบาๆ แต่ทำไมรู้สึกเจ็บ ทั้งๆ ที่คนโดนถามก็รู้ตัวเองดีว่าอ้วนขึ้นหรือไม่ แต่หากมีคนทักเมื่อไร ความรู้สึกนอยด์ก็เริ่มมาเยือน คิดในด้านดีให้ถือคำทักเป็นคำเตือน เพราะที่จริงแล้วความอ้วนไม่ใช่เรื่องดี เป็นอันตรายต่อสุขภาพรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อโรค Metabolic syndrome และยังเสี่ยงให้เกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบในผู้หญิงได้อีกด้วย 

เมตาบอลิกซินโดรม คืออะไร?

รศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์ส่องกล้องและการผ่าตัดโรคอ้วน ศูนย์ผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic syndrome) คือกลุ่มความผิดปกติของระบบเมตาบอลิก จากข้อมูลของ Interasia ที่ได้ทำการศึกษาในประชากรไทยทั่วประเทศที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปจำนวน 5,091 คน พบว่าความชุกของโรคอยู่ที่ร้อยละ 21.9 – 33.3 ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัย และพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ความผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี HDL – Cholesterol ต่ำ และพบว่าเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโอกาสที่จะเป็น Metabolic syndrome ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นตาม สาเหตุของโรคเมตาบอลิกซินโดรม ในปัจจุบันมีความเชื่อว่าเป็นผลมาจาก โรคอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง นำไปสู่ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไขมันดีในเลือดต่ำ รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด และ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรมและสาเหตุภายนอก เช่น ผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด โดยคนที่อ้วนลงพุงจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากกว่าคนที่อ้วนบริเวณสะโพก

 

การวินิจฉัยภาวะเมตาบอลิกซินโดรม

เกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) มีอยู่หลายเกณฑ์ด้วยกัน ในที่นี้ขอใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO)1999 ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยมีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด FBS (Fasting Blood Sugar) หลังอดอาหารนาน 8 ชั่วโมงมากกว่าหรือเท่ากับ 110 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร (mg/dl) หรือการตรวจน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ผลมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร (mg/dl) ร่วมกับความผิดปกติอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อดังต่อไปนี้คือ

  1. ความอ้วน เมื่อตรวจหาค่าดัชนีมวลกาย Body Mass Index (BMI) แล้วพบว่ามากกว่าหรือเท่ากับ 30 kg/m2 หรือ อัตราส่วนระหว่างเส้นรอบวงเอวต่อสะโพกมากกว่า 0.9 ในผู้ชาย และมากกว่า 0.85 ในผู้หญิง

  2. ระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) มากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร(mg/dl) หรือมีไขมันที่ดีสำหรับหลอดเลือดแดง (HDL-cholesterol) น้อยกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร(mg/dl)ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 39 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร(mg/dl) ในผู้หญิง

  3. ค่าความดันโลหิต น้อยกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือกำลังรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่

  4. อัลบูมิน (Albumin) ในปัสสาวะ มากกว่าหรือเท่ากับ 20 Microgram/Min หรืออัตราส่วนของ อัลบูมิน (Albumin):ครีเอทินิน (Creatinine) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 mg/g  แต่ทั้งนี้โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินในคนเอเชียจะต่างจากคนตะวันตก เนื่องจากค่า BMI หรือดัชนีมวลกาย ที่เป็นตัวชี้วัดในการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงแตกต่างกัน การวินิจฉัยภาวะเมตาบอลิกซินโดรมในคนเอเชียจึงควรใช้ค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 kg/m2 และเส้นรอบวงเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 ซม.ในผู้ชาย หรือมากกว่าหรือเท่ากับ 80 ซม.ในผู้หญิง

 

วิธีการรักษาภาวะเมตาบอลิกซินโดรม

  1. ควบคุมการรับประทานอาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและในปริมาณที่เหมาะสม

  2. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ

  3. งดสูบบุหรี่

  4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  5. ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีการศึกษาพบว่าการลดน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ทำให้ภาวะเมตาบอลิกซินโดรมดีขึ้นได้ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย

  6. บางครั้งแพทย์อาจให้รับประทานยาร่วมด้วย เช่น ยาที่ป้องกันการดูดซึมของไขมัน ยาที่ช่วยลดความอยากอาหาร ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะการใช้ยาอาจให้ผลดีในระยะสั้นและมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้

  7. การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคอ้วน และลดน้ำหนักไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ปัจจุบันจึงได้นำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ซึ่งเห็นผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด ได้แก่

    1) การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะ Laparoscopic Sleeve Gastrectomy การผ่าตัดปรับรูปร่างของกระเพาะให้มีความจุเหลือ 150 ซีซี โดยตัดกระเพาะและส่วนที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมความหิวออกประมาณ 80% เป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องบริเวณหน้าท้อง แผลเล็กขนาด 0.5 ซม. แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดต้องมากด้วยประสบการณ์ วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีค่า BMI หรือดัชนีมวลกายไม่เกิน 45 และมีโรคร่วม

    2) การผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะและทำบายพาส Laparoscopic Gastric Bypass การผ่าตัดแยกกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลงเป็นรูปกระเปาะมีความจุ 30 ซีซี จากนั้นตัดแยกลำไส้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งมาต่อกับกระเพาะเพื่อบายพาสอาหารความยาว 100-150 ซม. เหมาะกับผู้ที่มีค่า BMI หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 45 และมีโรคร่วม

 

โรคอ้วน VS ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

ขณะเดียวกัน ความอ้วนยังส่งผลกระทบต่อ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome-PCOS) ในผู้หญิง ภาวะนี้เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกาย โดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ เมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติของหลายระบบในร่างกาย อาทิ ต่อมใต้สมอง รังไข่ ต่อมหมวกไต

ดังนั้น การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์จึงไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะคุณผู้หญิงหากตกอยู่ในภาวะอ้วนอาจส่งผลให้มีรอบเดือนผิดปกติ ความอ้วนมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติโดยเฉพาะการอ้วนลงพุง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน เมื่อไขมันมากไปการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงอาจเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนมาน้อยแบบกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนขาดหายไป ทำให้มีบุตรยากซึ่งมักพบในวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 25-35 ปี หากไม่รีบรักษาอาจทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ในอนาคต

 

อาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

อาการที่ผู้หญิงควรสังเกตคือ

  1. ประจำเดือนเว้นช่วงนาน มาห่างกันมากกว่า 35 วัน หรือมาไม่เกิน 6 - 8 ครั้งต่อปี

  2. รอบประจำเดือนขาด มาไม่ติดต่อกันนานเกิน 3 รอบ เทียบกับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ หรือมาไม่ติดต่อกัน 6 เดือนในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง

  3. ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย มามากเกินไป นานเกินไป อาจเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ

  4. ภาวะแอนโดรเจน (Androgen) เกิน คือ ฮอร์โมนเพศชายที่มีอยู่ในร่างกายทั้งของผู้ชายและผู้หญิง เมื่อผู้หญิงมีมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะขนดก สิวขึ้นมากกว่าปกติ ผิวมัน ศีรษะล้าน

  5. อ้วน น้ำหนักเกินมาก ทำให้ดื้อต่อน้ำตาลอินซูลิน เพิ่มอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ได้ ความรุนแรงของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหากไม่รีบรักษา อาจส่งผลให้มีบุตรยาก หรือเพิ่มความเสี่ยงการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก เสี่ยงมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านม

 

วิธีรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

ลดความอ้วน  ควบคุมน้ำหนัก หากไม่แน่ใจควรพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด  เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว  ได้แก่ รักษาดื้ออินซูลิน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รักษาและป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ฯลฯ  ดังนั้นผู้หญิงทีมีความเสี่ยง ควรป้องกัน ด้วยการ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ เลี่ยงแป้งและอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส เพราะความเครียดทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ 

ทั้งนี้การรักษาทั้ง 2 รูปแบบจะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดน้ำหนัก และการรับประทานยาก่อน แต่หากไม่เป็นผลแพทย์จะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมักได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคอ้วนร่วมด้วย ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพแข็งแรงรูปร่างที่เหมาะสม ลดเสี่ยงและห่างไกลจากโรคเรื้อรัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook