“เดินออกกำลังกาย” มีประโยชน์มากกว่าที่คิด
แม้ว่า “การเดิน” จะไม่ได้เผาผลาญพลังงานได้มาก เมื่อเทียบกับการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ แต่ถ้าคุณเดินให้ได้อย่างน้อย 10,000 ก้าว/วัน หรือเดินประมาณ 30 นาที และสะสมให้ได้ 150 นาที/สัปดาห์ จะช่วยในเรื่องของความดันโลหิต หากเดินอย่างสม่ำเสมอและมากพอในแต่ละสัปดาห์ ร่างกายของคุณก็จะแข็งแรงขึ้นอย่างแน่นอน
การเดิน มีกี่แบบ?
- เดินช้า มีลักษณะคล้ายกับการเดินเล่น เดินจงกรม หรือเดินซื้อของ
- เดินเร็ว เป็นการเดินเร็วติดต่อกันนานกว่า 10 นาที/ครั้ง รวมกัน 30 นาที/วัน อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์
- เดินแข่ง คือ เดินเร็วจนกระทั่งพูดไม่เป็นคำ คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะหายใจไม่ทัน
ข้อดีของการเดิน
เริ่มต้นง่ายและประหยัด
แค่มีรองเท้ากีฬาที่ใส่สบายและเหมาะสมกับเท้าของคุณก็สามารถเริ่มได้ทันที โดยไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายราคาแพง ทั้งยังไม่ต้องหาเวลา หรือสถานที่เฉพาะเพื่อเดิน แค่ปรับให้การเดินอยู่ในชีวิตประจำวันของคุณ อาทิ เวลาออกไปข้างนอก ก็เลือกวิธีเดินแทนการขับรถหรือขึ้นรถโดยสารแทน
มีแรงกระแทกต่ำ
เหมาะสำหรับคนที่อยากออกกำลังกายแบบเซฟเข่า ลดแรงกระแทกระหว่างออกกำลังกาย เนื่องจากมีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือเข่าเริ่มไม่ดี
สลายไขมันในร่างกายได้เร็ว
ไขมันในร่างกายไม่ได้เริ่มเผาผลาญตั้งแต่เริ่มออกกำลังกาย แต่ต้องออกกำลังกายไปสักระยะจึงจะเริ่มเผาผลาญ ซึ่งการเดินในความเร็วที่พอเหมาะเป็นเวลา 10-20 นาที จะทำให้ไม่เหนื่อยและส่งผลดีต่อการสลายไขมันในร่างกาย
ช่วยลดความเครียด
การเดิน จะช่วยให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินมากขึ้น ซึ่งสารดังกล่าวมีผลให้คุณอารมณ์ดี หรือจิตใจแจ่มใส นอกจากนี้ การเดินยังจัดว่า เป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการขจัดความเครียดถึงขั้นสามารถรักษาอาการซึมเศร้าได้เลย
ลักษณะการเดินที่ถูกวิธี มีอะไรบ้าง ?
- สายตามองตรงไปข้างหน้าขณะเดิน ศีรษะและลำตัวตั้งตรง ไหล่ทั้งสองข้างอยู่ในระดับตรง
- แกว่งแขนซ้ายขวาสลับหน้าหลังขนานกับลำตัว มือทั้งสองข้างกำแบบหลวมๆ มือที่แกว่งสูงระดับอกในลักษณะที่ผ่อนคลาย งอศอกเล็กน้อย ทำมุมประมาณ 90 องศา ระหว่างแขนท่อนบน-ล่าง
- จังหวะก้าวเท้าควรสม่ำเสมอ และมีความต่อเนื่อง ไม่ใช่เดินๆ หยุด อย่างน้อยควรเดินต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 20-30 นาที แต่หากเพิ่งเริ่มต้น อาจเริ่มที่ 5 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มไปเรื่อยๆ
- เวลาเดินให้ส้นเท้าแตะพื้นก่อน แล้วถ่ายน้ำหนักตัวไปที่ฝ่าเท้า ที่สำคัญควรวางเท้าลงกับพื้นตรงๆ ไม่วางเท้าให้ไขว่กันมากจนเกินไป
- ไม่ควรก้าวเท้ายาวจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความเมื่อยล้าที่กล้ามเนื้อต้นขาและสะโพกมากกว่าปกติ
- หากต้องเดินขึ้นเนิน ควรเดินช้าลง และเอนตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย เมื่อเดินลงเนิน ให้พยายามควบคุมความเร็วก้าวสั้นๆ และวางเท้าให้เบา
เห็นประโยชน์ของการเดินแล้ว คุณก็ลองชวนเพื่อน ชวนคนในครอบครัวมาเดินไปด้วยกันได้นะคะ จะได้มีสุขภาพแข็งแรงไปด้วยกัน