ศิริราชแนะสกัด "อัลไซเมอร์" ออกกำลังกายด้วยแอโรบิก

ศิริราชแนะสกัด "อัลไซเมอร์" ออกกำลังกายด้วยแอโรบิก

ศิริราชแนะสกัด "อัลไซเมอร์" ออกกำลังกายด้วยแอโรบิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

         เมื่อวันที่ 8 กันยายน นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ระบบประสาท ระบาดวิทยา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยในงานกิจกรรม "วันอัลไซเมอร์โลก" ว่าโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เป็นโรคที่จะต้องเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปว่าเกิดจากการเสื่อมสภาพของเซลล์สมองซึ่งเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น และมีอาการร่วมของโรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ
ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่ดี คนที่มีปัญหาหลอดเลือดสมอง หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต หรือน้ำหนักตัวเกิน อ้วน สูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงสูง พบมากในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 6-8 และโรคจะรุนแรงเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุก 5 ปี

         นพ.วีรศักดิ์กล่าวอีก ว่า คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่อาการเริ่มแรกจะพบว่าความจำระยะสั้นไม่ค่อย ดี ส่วนความจำในเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตยังดีอยู่ หรือพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ ถามซ้ำๆ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลง เช่น เคยขับรถ เคยซื้อของได้ กลับเป็นทำไม่ได้ เพราะว่าคิดอ่านไม่ได้

         นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นโรคนี้ในช่วงที่อายุมากแล้ว จึงทำให้มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ตามมา เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย หวาดระแวง เป็นต้น หากพบอาการเหล่านี้ขอให้ระวังและรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นระยะเริ่มแรกของสมองเสื่อม ซึ่งพบได้ 70 ใน 100 คน ที่กลายเป็นโรคอัลไซเมอร์ และปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองเท่านั้น

         "สำหรับการป้องกัน นั้น ต้องทำตั้งแต่วัยกลางคน หรือวัยหนุ่มสาว ถ้าทำตอนอายุมากแล้วอาจจะไม่ค่อยได้ผล โดยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายชนิดแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ประมาณครั้งละ 40 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ซึ่งจากการวัดสมรรถภาพของสมองในผู้ที่ออกกำลังกายเป็นเวลา 6-12 เดือน พบว่าดีขึ้นกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง และหันไปกินผัก ผลไม้ เนื้อปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาสวาย ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ให้มากขึ้น เพราะอุดมไปด้วยวิตามินบำรุงสมอง
         ในส่วนของอาหารเสริมบำรุงสมองต่างๆ นั้น ยังไม่พบข้อมูลว่าช่วยบำรุงสมองได้จริง นอกจากนี้ พยายามทำกิจกรรมที่กระตุ้นความจำ คิด อ่าน เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพยายามไม่ให้เศร้าหรือวิตกกังวล เลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้ง่วงซึม และเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook