อันตราย! “โรคร่าเริง” กลางวันง่วงซึม กลางคืนตาสว่าง
โรคร่าเริง หากได้ยินชื่อนี้ในครั้งแรก หลายคนอาจคิดว่า เป็นโรคที่มีอาการไม่ต่างจาก โรคไฮเปอร์ ของผู้ที่มีพฤติกรรมอยู่ไม่สุขหรืออยู่ไม่นิ่ง แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ และวันนี้ Tonkit360 จะพามาทำความรู้จักกับ โรคร่าเริง กันค่ะ ว่ามีอาการเป็นอย่างไร สามารถรักษาได้หรือไม่
ทำความรู้จัก “โรคร่าเริง”
เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่อดหลับอดนอนอย่างต่อเนื่อง อาการแบบนี้มักเกิดกับผู้ที่ชอบอ่านหนังสือแบบหามรุ่งหามค่ำต่อเนื่องกันหลายวัน หรือผู้ที่ต้องทำงานช่วงกลางคืนและพักผ่อนตอนกลางวันแทน และพฤติกรรมเช่นนี้ยังส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายแปรปรวน
โรคร่าเริง มีอาการอย่างไร?
ผู้ที่เป็นโรคร่าเริง ในช่วงกลางวัน จะมีอาการรู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอนตลอดเวลา หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย และไม่มีสมาธิในการเรียนหรือการทำงาน
ขณะที่ในช่วงกลางคืน จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าอย่างเต็มที่ ไอเดียพรั่งพรู ไม่หลับไม่นอน มีอาการลืมวันลืมคืน จนทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างที่ควร หรือที่เรียกว่า “กลางวันง่วงซึม กลางคืนตาสว่าง” นั่นเอง
พฤติกรรมแบบใด เสี่ยงเป็นโรคร่าเริง
- นอนดึกหรือนอนเช้า
ผู้ที่เป็นโรคร่าเริงมักจะมีพฤติกรรมชอบนอนดึกหรือนอนเช้าทีเดียว โดยโรคนี้มักเกิดกับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักเขียน ครีเอทีฟ ทำงานในวงการบันเทิง หรือผู้ที่จำเป็นต้องทำงานอยู่กะกลางคืน
- ติดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือแท็บเล็ต เนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้มี “แสงสีฟ้า” ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ประสาทตื่นตัว ฉะนั้น จึงควรงดเล่นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอนประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายของคุณได้ปรับสภาพให้พร้อมก่อนเข้านอน
- ตื่นสาย
เมื่อคุณนอนดึก ก็ไม่แปลกที่ต้องตื่นสาย ซึ่งการตื่นสายนอกจากทำให้ร่างกายไม่สดชื่นเท่าที่ควรแล้ว ยังเป็นเหตุให้คุณต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ทั้งรีบไปโรงเรียนหรือไปทำงาน ทำให้อดทานข้าวเช้า เป็นเหตุให้มีอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะแทรกซ้อนขึ้นมาได้
- ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลัง
การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลัง ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวได้ดี ส่งผลให้มีแรงและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่หากคุณดื่มติดกันบ่อย ๆ หรือดื่มช่วงก่อนเข้านอน จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้
โรคร่าเริง มีวิธีรักษาอย่างไร
การรักษาโรคร่าเริงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงคุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ ดังนี้
- ปรับเวลานอนใหม่
จากเดิมที่เคยนอนดึก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ขอให้คุณลองเปลี่ยนเวลานอนใหม่ ด้วยการเข้านอนตั้งแต่ช่วงเวลา 22.00 น. เนื่องจากช่วงเวลา 22.00-02.00 น. เป็นช่วงที่โกรทฮอร์โมนจะหลั่งออกมาในขณะที่คุณหลับ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย
- ปรับนิสัยการทานอาหาร
ใครจะเชื่อว่า การทานอาหารก็มีผลต่อผู้เป็น “โรคร่าเริง” เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการทานอาหารที่มีแป้งเยอะ ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนในตอนกลางวันได้ง่าย ฉะนั้น ลองเปลี่ยนมาทานเนื้อสัตว์ที่ติดมัน และเนื้อปลาให้มากขึ้น รวมถึงลดทานแป้ง เพียงเท่านี้จะช่วยให้ร่างกายมีความตื่นตัวมากขึ้นในช่วงกลางวัน และนอนหลับได้อย่างสบายในช่วงกลางคืน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกาย นอกจากช่วยให้สุขภาพของคุณแข็งแรง ยังช่วยให้ร่างกายของคุณมีความตื่นตัว ไม่รู้สึกง่วงนอนในเวลากลางวัน ยิ่งหากคุณออกกำลังกายตอนเช้า จะช่วยให้ร่างกายเกิดความกระปรี้กระเปร่าพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในตอนกลางวันมากขึ้นอีกด้วย
- ตั้งนาฬิกาปลุก
หากรู้ตัวว่า ไม่สามารถตื่นนอนเองได้ ขอให้หาผู้ช่วยอย่าง “นาฬิกาปลุก” มาใช้ซะ โดยคุณอาจตั้งนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์มือถือก็ได้ เมื่อร่างกายของคุณเริ่มชินกับเวลาที่ต้องตื่นเป็นประจำ หลังจากนั้นอาจไม่ต้องพึ่งพานาฬิกาปลุกอีกต่อไป
- ฟังเพลงระหว่างวัน
เมื่อคุณรู้สึกว่า การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังไม่สามารถช่วยให้รู้สึกตื่นตัว ลองเปิดเพลงฟังระหว่างวัน เพื่อคลายเครียดและเพิ่มความตื่นตัวของร่างกาย แต่อย่าเลือกเพลงช้านะคะ ไม่งั้นอาจได้นั่งหลับคาโต๊ะทำงานแน่ ๆ ส่วนเพลงตื๊ด ๆ แนว EDM ก็ฟังได้ แค่อย่าเผลอสนุก จนลุกมาแดนซ์เท่านั้นเอง
- ดื่มน้ำเปล่า
การดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น ที่สำคัญ “น้ำ” ยังเป็นตัวลดความหนืดของเลือด ทำให้คุณไม่รู้สึกง่วงนอน
แม้ชื่อ “โรคร่าเริง” อาจฟังดูไม่น่ากลัว แต่ความจริงเป็นโรคที่มีอันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะยิ่งระบบการทำงานภายในร่างกายผิดเพี้ยนมากเท่าใด ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อร่างกายมากตามไปด้วย ดังนั้น คุณควรหันมาใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น “อย่ามัวทำงาน เก็บเงินไปใช้ในห้อง ICU” เลย