วิจัยชี้ “ขี้เกียจ” ส่งผลดีต่อการทำงานได้มากกว่าที่คิด

วิจัยชี้ “ขี้เกียจ” ส่งผลดีต่อการทำงานได้มากกว่าที่คิด

วิจัยชี้ “ขี้เกียจ” ส่งผลดีต่อการทำงานได้มากกว่าที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครๆ ก็บอกว่าการเป็นคนขี้เกียจจนตัวเป็นขนเป็นสิ่งที่ไม่ดี คนเราเกิดมาก็ต้องขยัน ไม่ควรนั่งหายใจทิ้งอยู่เฉยๆ ไปวันๆ แต่อันที่จริงแล้วมีงานวิจัยจากต่างประเทศยืนยันได้ว่า การเป็นคนขี้เกียจก็มีข้อดีต่อสุขภาพร่างกายของเราไม่น้อยเหมือนกันนะ

ว่ากันที่เรื่องของ “ความขี้เกียจ” กันก่อน ความขี้เกียจที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้ ไม่ได้หมายถึงการนั่ง หรือนอนเฉยๆ โดยปราศจากความคิดความอ่านใดๆ ในหัว เหม่อลอยอย่างไร้จุดหมาย หรือสมองว่างโล่งเหมือนไม่เคยทำงานมาก่อน แต่ความขี้เกียจที่เรากำลังพูดถึง คือการที่เรา “ตั้งใจ” ปล่อยวางทุกความคิดในสมอง หยุดที่จะคิดหรือประมวลผลถึงเรื่องราวต่างๆ “สักครู่” มากกว่า

 

ก็ไม่ได้ทำงานอะไร แต่ทำไมยังเหนื่อยอยู่?

บางคนใช้เวลาว่างทั้งหมดไปกับการทำงานอดิเรกต่างๆ ที่คิดว่าเป็นการพักผ่อนจิตใจ และผ่อนคลายสมอง เช่น เล่นเกม ดูหนังดูละคร อ่านนิยาย ไถฟีด social media แม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจของคุณได้ผ่อนคลาย แต่กับสมองของคุณยังคงทำงานอยู่อย่างเต็มที่ ต้องคอยประมวลผลอยู่ตลอดเวลาว่าต้องเล่นเกมอย่างไรให้ชนะ ตัวละครแต่ละตัวเขาพูดประโยคนี้เพราะอะไร ทำไมเนื้อเรื่องในนิยายถึงเป็นแบบนี้ หรือการอ่านข่าวต่างๆ ก็ต้องใช้สมองในการตรึกตรอง และคิดตามไปด้วยตลอด ดังนั้นถึงแม้ว่างานอดิเรกจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจได้สงบ ผ่อนคลาย แต่สมองของคุณไม่ได้ผ่อนคลาย 100% อย่างที่คุณคิดแน่นอน

สิ่งที่ทำให้สมองทำงานอยู่ตลอด คือการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่งนั่นเอง แม้ว่าการจดจ่ออยู่กับสิ่งสิ่งหนึ่ง (focus) จะเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนควรมี แต่การไม่จดจ่อ (unfocus) อยู่กับสิ่งใดๆ ก็ทรงพลังมากพอที่จะส่งผลดีต่อร่างกายอย่างที่คุณไม่คาดคิดได้เช่นกัน

 

โฟกัส (สมองยุ่ง) VS ไม่โฟกัส (สมองว่าง)

การโฟกัสอยู่กับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะทำให้งานนั้นๆ สำเร็จไปได้ด้วยดี แต่การไม่โฟกัสกับสิ่งๆ นั่นมาก จะช่วยให้สมองของเราทำงานด้าน “ความคิดสร้างสรรค์” มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ หากลองคิดถึงช่วงเวลาที่คุณมีไอเดียอะไรใหม่ๆ ออกมาได้อย่างน่าประหลาดใจ เวลานั้นมักเป็นช่วงเวลาที่คุณไม่ทันได้คาดคิดว่าคุณจะคิดอะไรดีๆ ออก อาจจะเป็นช่วงที่คุณกำลังจิบกาแฟง่ายๆ ในตอนเช้า ตอนที่คุณกำลังฮัมเพลงเบาๆ ระหว่างอาบน้ำ ตอนทุ่คณกำลังปลดทุกข์อย่างช้าๆ ตอนที่คุณนั่งเฉยๆ อยู่บนรถเมล์พร้อมกับมองออกไปนอกหน้าต่าง หรือฟังเพลงที่ชอบไปด้วยเบาๆ หรือกำลังเดินทอดน่องออกมาหน้าปากซอยบ้าน เป็นต้น ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วงเวลาที่สมองของคุณมีโอกาสได้ปลดปล่อยจากการประมวลผลต่างๆ ที่เราทำมาตลอดทั้งวัน เป็นช่วงเวลาที่อาจจะสั้นๆ แต่ก็ช่วยให้สมองของคุณโล่ง ไม่ยุ่งวุ่นวายกับการต้องประมวลผลต่อการกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายอย่างในเวลาเดียวกันอย่างที่คนสมัยนี้ชอบเป็น (ทำงานไป คุญโทรศัพท์ไป กินข้าวไป เช็กอีเมลไปด้วย ฯลฯ) เมื่อไรก็ตามที่สมองของคุณโล่งได้ที่แล้ว สมองด้านความคิดสร้างสรรค์ก็จะเริ่มทำงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้น เมื่อนั้นคุณก็จะคิดอะไรดีๆ ออกได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

 

ประโยชน์ของอาการ “ขี้เกียจ”

งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า คนเรามักมีเรื่องราวต่างๆ ในใจแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่เรื่องของอนาคต (48% ของเวลาทั้งหมด) เรื่องปัจจุบัน (28% ของเวลาทั้งหมด) และ เรื่องอดีต (12% ของเวลาทั้งหมด) ส่วนของเวลาที่เหลือก็จะเป็นช่วงที่สมองและจิตใจไม่ได้คิดถึงเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งช่วงเวลาที่สมองและจิตใตว่างโล่งแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะนั้นส่งผลดีต่อร่างกายมากมาย ดังนี้

  1. พักผ่อนอย่างเต็มที่

การปล่อยให้สมอง และจิตใจของตัวเองอยู่ว่างๆ เฉยๆ ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องตั้งใจใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งสักพัก ถึงจะเป็นการพักผ่อนที่แท้จริง เปรียบเสมือนช่วงเวลาที่สมองของเราได้กระจายการโฟกัสไปที่จุดหลายๆ จุด มากกว่าจะมาจดจ่ออยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว เมื่อเราเข้าสู่สภาวะไม่ใช้พลังงานในการคิด และประมวลผลสิ่งต่างๆ ร่างกายของเราก็จะเริ่มเข้าสู่โหมดสะสมพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้เรากลับมาใช้พลังงานในการทำงาน หรือการโฟกัสกับงานอีกครั้งได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น (หรือที่หลายๆ คนเรียกว่าเป็นช่วงชาร์ตแบตให้กับชีวิตนั่นแหละ)

การพักผ่อนแบบนี้ไม่จำเป็นจะต้องส่งใบลางานไปนั่งอยู่ริมทะเลเก๋ๆ แต่คุณทำได้แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ของวัน ไม่ว่าจะเป็นการยืนเข้าคิวสั่งกาแฟตอนเช้าโดยไม่หยิบมือถือขึ้นมาดู วิ่งออกกำลังกายโดยไม่ฟังเพลง หรือนั่งทานข้าวโดยไม่ต้องดูทีวี หรืออ่านหนังสือ เป็นต้น

 

  1. วางแผนได้ดีขึ้น

งานวิจัยระบุว่า เมื่อไรก็ตามที่สมองของเราไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเป็นพิเศษ ช่วงเวลานั้นเราจะคิดถึงเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “อนาคต” มากถึง 14 ครั้งต่อวัน มากกว่าช่วงเวลาที่เราใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งวัน นอกจากนี้เรายังวางแผนอนาคตอีกยาวไกล (long-term goal) ได้มากถึง 7 ครั้งต่อวันเมื่อสมองของเราได้พักอย่างจริงจัง ดังนั้นการได้หยุดคิดโดยสิ้นเชิงสักครู่ จะช่วยให้เรากลับมาคิด และวิเคราะห์ วางแผนสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

  1. ขุดไอเดียเจ๋งๆ ได้เพียบ

เมื่อไรก็ตามที่เราได้ปลดปล่อยให้สมอง และจิตใตได้โลดแล่นอย่างอิสระอย่างไร้กรอบ และขีดจำกัด เมื่อนั้นจิตใจของเราก็จะสามารถนึกไปถึงเรื่องต่าง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบัน และอดีตได้มาก และชัดเจนขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของไอเดียที่สร้างสรรค์สุดบรรเจิดเมื่อคุณกลับเข้าสู่โหมดตั้งอกตั้งใจทำงานอีกครั้งได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณได้หยุดพักสักครู่ คุณอาจจะนึกไปถึงข้อความในบทความที่คุณได้อ่านเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แล้วโยงเข้าเรื่องของการแก้ปัญหาปัจจุบันที่คุณกำลังหาทางออกอยู่ก็เป็นได้ เพราะจริงๆ แล้ว ไอเดียที่เต็มไปด้วยข้อมูลเชิงลึก และไอเดียที่มาจากสัญชาตญาณต่างๆ ภายในจิตใจของเรา มักจะออกมาตอนที่สมองของเรากำลังว่างๆ โล่งๆ อยู่นี่ล่ะ

 

ดังนั้น การที่คุณปล่อยให้ร่างกายของเราได้ “ขี้เกียจ” อย่างแท้จริงดูบ้าง มันก็ไม่เลวเหมือนกันนะ นอกจากจะเป็นการพักผ่อนสมองอย่างแท้จริงแล้ว ยังช่วยให้คุณกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ โดยเฉพาะสายที่ต้องคิดหาไอเดียใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาอย่างสายงานโฆษณา งานเขียน งานศิลปะต่างๆ รับรองว่าช่วยได้เยอะแน่นอน เริ่มต้นจากการหยุดทำอะไรหลายอย่างภายในเวลาเดียวกันก่อน ตามด้วยการวางมือถือลง และทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายตัวเองเพียงกิจกรรมเดียว เช่น เดิน วิ่ง จิบเครื่องดื่ม ทานอาหารง่ายๆ นอนให้คนอื่นนวด หรือนั่งชมวิวทิวทัศน์เฉยๆ ดูบ้าง ไม่แน่ว่าอาจจะได้ไอเดียอะไรใหม่ๆ ออกมามากมายอย่างที่คุณไม่คาดคิดก็ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook