อยู่ดีๆดูฟันยาวขึ้น...เป็น"เหงือกร่น"หรือเปล่า?!

อยู่ดีๆดูฟันยาวขึ้น...เป็น"เหงือกร่น"หรือเปล่า?!

อยู่ดีๆดูฟันยาวขึ้น...เป็น"เหงือกร่น"หรือเปล่า?!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ เรื่องฟันFunกับทันต จุฬาฯ
โดย ทญ.จันทรกร แจ่มไพบูลย์

เหงือกร่น คือ ภาวะการสูญเสียเนื้อเยื่อเหงือกที่ปกคลุมผิวรากฟัน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการโผล่ของผิวรากฟันในช่องปาก และจะมองเห็นว่าฟันยาวเพิ่มขึ้นและมีสีของฟันเหลืองหรือเข้มขึ้น นอกจากนี้ ในรายที่มีเหงือกร่นระดับรุนแรง อาจพบช่องว่างระหว่างซี่ฟันเพิ่มขึ้น มักพบได้บ่อยเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถพบในวัยรุ่นได้เช่นกัน

เหงือกร่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แปรงฟันผิดวิธีหรือแรงเกินไป เป็นโรคปริทันต์อักเสบ (โรครำมะนาด) หรืออาจเกิดร่วมกับการมีตำแหน่งของฟันผิดปกติหรือซ้อนเก เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา ได้แก่ เสียวฟัน รากฟันผุ เนื่องจากผิวรากฟันโผล่ร่วมกับการสึกของฟันบริเวณนั้น นอกจากนี้ เหงือกร่นในฟันหน้าก็เป็นปัญหาด้านความสวยงามสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์ทางด้านปริทันต์(หมอรักษาโรคเหงือก)ด้วย

ส่วนในรายที่เหงือกร่นระดับรุนแรง ร่วมกับเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้สูญเสียฟันได้ การป้องกันเหงือกร่นสามารถทำได้โดยแปรงฟันให้ถูกวิธี ใช้แปรงขนาดพอเหมาะกับช่องปาก ขนแปรงอ่อนนุ่ม และพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ในกรณีที่เหงือกร่นแล้ว เหงือกจะไม่สามารถงอกกลับมาปิดผิวฟันได้เอง และมักจะมีแนวโน้มที่เหงือกจะร่นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายังไม่สามารถกำจัดสาเหตุได้ อาจต้องใช้วิธีปลูกเหงือก ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ใช้ชิ้นเนื้อเยื่อจากบริเวณเพดานปากของผู้ป่วย ใช้เนื้อเยื่อเหงือกข้างเคียงของบริเวณที่มีเหงือกร่น หรืออาจใช้เนื้อเยื่อผิวหนังที่ได้รับบริจาคมาซึ่งผ่านกระบวนการทำให้ปราศจากเซลล์ เป็นต้น โดยวางเนื้อเยื่อนี้ไปปิดบริเวณที่มีเหงือกร่น ซึ่งนอกจากจะปิดบริเวณรากฟันที่โผล่แล้วยังมีส่วนที่จะช่วยป้องกันการร่นของเหงือกที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้ด้วยอย่างไรก็ตามการปิดเหงือกร่นนั้นเป็นงานศัลยกรรมซึ่งอาจมีอาการแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ปวดบวม มีเลือดออก เป็นต้น

ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดเหงือกร่นน่าจะเป็นผลดีกว่าที่จะต้องมาแก้ไขในภายหลัง พบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อที่ว่าในกรณีที่มีปัญหาในช่องปากหรือมีเหงือกร่นก็จะสามารถที่ป้องกันไม่ให้ลุกลามและให้การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆซึ่งจะทำให้ได้ผลสำเร็จที่ดี

เพียงเท่านี้ท่านผู้อ่านก็จะมีสุขภาพอนามัยในช่องปากที่ดีและดูอ่อนวัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook