กรมสุขภาพจิตเผย เด็กไทยก่อคดีเฉลี่ยวันละ 83 คน ร้อยละ 96 ป่วยทางจิต

กรมสุขภาพจิตเผย เด็กไทยก่อคดีเฉลี่ยวันละ 83 คน ร้อยละ 96 ป่วยทางจิต

กรมสุขภาพจิตเผย เด็กไทยก่อคดีเฉลี่ยวันละ 83 คน ร้อยละ 96 ป่วยทางจิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมสุขภาพจิตเผยมี เด็ก-เยาวชน ก่อคดีวันละ83คน ผลวิจัยพบร้อยละ96ป่วยทางจิตจากยาเสพติดสูงสุด เร่งจับมือสถานพินิจจัดระบบรักษาฟื้นฟู นำร่อง 4 แห่ง กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, นครปฐม, สุราษฎร์ธานี ก่อนขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศ

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาเด็กและเยาวชนน่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยพบเกี่ยวข้องกับกระบวนยุติธรรม2 ลักษณะ คือเป็นผู้กระทำผิด และถูกคนอื่นกระทำ ทั้งนี้ข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปี 2559 มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำผิด 30,356 คน เฉลี่ยวันละ 83 คน ร้อยละ 93 เป็นชาย และเกือบร้อยละ 90 มีอายุ 15 - 18 ปี ที่เหลืออายุ 10 - 15 ปี โดยอันดับ 1 หรือร้อยละ 41 เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ร้อยละ 20 คดีเกี่ยวกับการลักทรัพย์ ร้อยละ 14 ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 7 มีอาวุธ และวัตถุระเบิด ส่วนการก่อคดีซ้ำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2558

ส่วนผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2558 พบเด็กที่ทำผิด ร้อยละ 96 ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอย่างน้อยออ1 โรค สูงกว่าเด็กทั่วไป 5 เท่า มากที่สุดคือความผิดปกติของพฤติกรรมการใช้สารเสพติด ร้อยละ 84 โรคเกเรต่อต้าน ร้อยละ 34 โรควิตกกังวลร้อยละ 11 โรคซึมเศร้าและโรคอารมณ์แปรปรวน ร้อยละ 10 โรคสมาธิสั้นร้อยละ 7 โดยมีเด็กร้อยละ 79 หรือประมาณ 4 ใน 5 ป่วยทางจิตมากกว่า 2 โรค นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กเริ่มดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สูบกัญชา และยาบ้า เมื่ออายุ 7 - 9 ปี ซึ่งมีโอกาสเสพติดสูง และมีโอกาสป่วยทางจิตเวช ที่ต้องการการบำบัดรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ดังนั้นจะเห็นว่าการก่อคดีของเด็กเยาวชนคือการเจ็บป่วยทางจิตที่เกิดจากการเลี้ยงดู รวมถึงการใช้สารเสพติด ดังนั้นจึงต้องช่วยกันดูแลเพื่อไม่ให้เด็กติดยา ทำผิด ทำผิดซ้ำและโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม

 

ปัญหาการทารุณกรรมในเด็ก

สำหรับปัญหาเด็กที่ถูกทารุณกรรม ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ของรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ปี 2558 มีเด็กถูกกระทำรุนแรง 10,712 คน เฉลี่ย 30 คนต่อวัน โดยเป็นเด็กหญิงถูกกระทำรุนแรงทางเพศโดยคนรู้จัก ถูกทุบตี ทารุณทั้งร่างกายและจิตใจ 3,108 คน ซึ่งผู้ปกครองส่วนหนึ่งยังเชื่อว่าการลงโทษเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก กลุ่มเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงนี้ จะมีผลต่อสมองและจิตใจ ทำให้พัฒนาการล่าช้า สติปัญญาลดลง เป็นเด็กเก็บกด จะต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูเพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจระยะยาว ดังนั้นกรมฯ ได้เร่งป้องกันปัญหาโดยส่งเสริมการเลี้ยงดู การคัดกรองหาเด็กนักเรียนที่เป็นโรคทางจิตเวชเพื่อรักษา และให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์จัดระบบการดูแลเด็กทั้ง 2 กลุ่ม ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูเด็ก

 

การบำบัดรักษาเด็กที่มีอาการป่วยทางจิต

นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า การบำบัดรักษาเด็กที่กระทำผิดนั้นทีมจิตแพทย์ และสหวิชาชีพร่วมกับสถานพินิจฯคัดกรองเด็กที่มีปัญหาป่วยทางจิตตั้งแต่แรกรับ และให้การดูแลบำบัดเบื้องต้น ในรายที่ไม่ดีขึ้นหรือมีภาวะฉุกเฉินทางจิตเวชจะมีระบบการส่งต่อเข้าบำบัดรักษาฟื้นฟูที่รพ.จิตเวช เมื่อเด็กพ้นโทษจะมีระบบการประสานกับรพ.ใกล้บ้านเพื่อดูแลต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปีนี้ ได้นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์แรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา เขตบางนา กทม. ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา จ.สมุทรปราการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปราณี จ.นครปฐม และที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายเขต 8 จ.สุราษฏร์ธานี จากนั้นจะประเมินผลและขยายครอบคลุมสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทั่วประเทศที่มีรวม 94 แห่งต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook