อันตรายต่อสุขภาพ จากการ “ทำงานเป็นกะ”

อันตรายต่อสุขภาพ จากการ “ทำงานเป็นกะ”

อันตรายต่อสุขภาพ จากการ “ทำงานเป็นกะ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีอยู่หลากหลายอาชีพที่ยังต้องเข้างานเป็นกะ แล้วสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนเวลาทำงานกันไปเรื่อยๆ วันนี้ทำงานเช้า อีกวันทำงานบ่าย อาทิตย์ทำงานตอนดึก อาจจะเป็นผู้รักษาความปลอดภัย นักข่าว หมอ พยาบาล พนักงานในโรงงานที่ทำการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง ตำรวจ ทหารบางตำแหน่ง นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พนักงานเสิร์ฟ หรือเชฟที่ทำงานในร้านอาหารที่เปิด 24 ชั่วโมง เป็นต้น การพักผ่อนที่ไม่ตรงเวลาในแต่ละวัน ทำให้นาฬิกาชีวิตรวน จนอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่าการทำงานของร่างกายมนุษย์ เช่น อุณหภูมิร่างกาย การผลิตฮอร์โมน การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การทำงานของกระเพาะอาหารเป็นแบบ 24 ชั่วโมง  โดยวงรอบการทำงานต่างๆ จะประสานสอดคล้องกัน โดยมีสมอง ปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวควบคุม ดังนั้นเมื่อต้องทำงานเป็นกะ ร่างกายจะมีการปรับวงจรการนอนให้สอดคล้องกับกะที่ทำงาน แต่วงจรอื่นๆ จะต้องใช้เวลาในการปรับ ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ผลกระทบที่ตามมาคือ นอนไม่เพียงพอ ทำให้อ่อนล้า สูญเสียสมาธิ และการตัดสินใจช้าลง นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของความผิดพลาด และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลกระทบด้านสุขภาพนั้นมี 2 ระยะคือ

  • ผลระยะสั้น ผู้ที่ต้องทำงานกะดึกจะได้รับผลกระทบทันทีในคืนแรก ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ (ปริมาณชั่วโมงการนอน) และคุณภาพของการนอน (หลับไม่สนิท) ผลที่ตามมาคือความอ่อนล้า  เครียด ประสิทธิภาพการตัดสินใจลดลง
  • ผลระยะยาว จะมีอาการเครียดจากการนอนหลับไม่เพียงพอ มักเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพต่างๆ ในระยะยาวได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถึงร้อยละ 40 โรคกระเพาะอาหารมากกว่า 5 เท่าของคนปกติ โรคมะเร็งเต้านมของผู้หญิงถึงร้อยละ 30 โรคระบบทางเดินอาหาร โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคจิตประสาท กังวล ซึมเศร้า ปัญหาครอบครัว และสังคม สำหรับในผู้หญิงอาจมีผลต่อระบบฮอร์โมน และระบบสืบพันธุ์ทำให้มีบุตรยาก คลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ง่าย 

 

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องทำงานเป็นกะ

  1. การนอน พยายามนอนช่วงเย็นให้ได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ใช้เครื่องป้องกันเสียงเพื่อตัดเสียงรบกวน งดชา กาแฟ หรือสารกระตุ้นประสาทก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง
  2. การรับประทานอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักในช่วงหลังเที่ยงคืน ให้ทานอาหารเบาๆ แต่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร ซึ่งนมจัดได้ว่าเป็นอาหารที่เหมาะที่สุด เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง ย่อยง่ายและเป็นสารเคลือบกระเพาะอาหาร
  3. การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายหลังตื่นนอนจะช่วยเพิ่มอุณหภูมิในร่างกายทำให้สดชื่นและกระฉับกระเฉง หากสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำจะทำให้สุขภาพแข็งแรงและพร้อมที่จะทำงานเป็นกะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook