10 ซูเปอร์ฟู้ดเพิ่มสารอาหาร-ประสิทธิภาพในการ “ลดน้ำหนัก” ให้ดียิ่งขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำอาหารระดับ “ซูเปอร์ฟู้ด” ที่ช่วยเพิ่มสารอาหารดีๆ ให้กับร่างกาย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก สำหรับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีลดปริมาณพลังงานในอาหาร ให้เราลดน้ำหนักได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวสุขภาพจะแย่ลง
Katherine D. McManus หัวหน้าคณะโภชนาการ และภาควิชากำหนดอาหารที่โรงพยาบาล Brigham and Women และอาจารย์สอนคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Harvard ที่เมือง Boston ระบุว่า หากอยากทานอาหารให้ได้สารอาหารที่ดีต่อสุขภาพในทุกๆ ด้าน การทานอาหารที่เป็น “ซูเปอร์ฟู้ด” เพียงชนิดเดียวไม่เพียงพออย่างแน่นอน เราจะต้องเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลากหลายชนิด แต่อย่าลืมระมัดระวังถึงปริมาณที่ได้รับจากอาหารเหล่านั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่กำลังเลือกทานอาหารอย่างจำกัดอยู่ เช่น คนที่กำลังเข้าโปรแกรมการทานอาหารเพื่อลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคไต โรคเบาหวาน รวมไปถึงคนที่กำลังเข้าคอร์สไดเอตด้วยการทานมังสวิรัติ หรือ เมดิเตอร์เรเนียน (เน้นอาหารจากพืช) หากเลือกทานอาหารซ้ำๆ เดิมๆ อาจทำให้ไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากพอ ส่งผลถึงสุขภาพร่างกายโดยรวมที่อาจทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ป่วยบ่อย หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณกำลังดูแลสุขภาพด้วยวิธีการทานอาหารแบบไหนอยู่ นี่คือซูเปอร์ฟู้ด 10 ชนิดที่อยากแนะนำให้คุณทานควบคู่กันไปด้วย เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี และแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอกที่แท้จริง
-
เบอร์รี่
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เป็นที่ทราบกันดีว่ามีประโยชน์มหาศาล มีทั้งกากใยอาหารที่ดีต่อการขับถ่าย รสหวานจากธรรมชาติ สีเข้มๆ สวยๆ มาพร้อมกับสารต้านอนุมูลอิสระ และยังเต็มไปด้วยวิตามินที่ต่อต้านโรคร้ายได้สารพัด -
ปลา
หากกำลังมองหาอาหารที่เต็มไปด้วยโปรตีนที่ดีต่อร่างกาย อย่าลืมมองหาปลา เพราะนอกจากโปรตีนแล้ว ยังมีโอเมก้า-3 ที่เป็นไขมันที่ดี และช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้อีกด้วย -
ผักใบเขียว
ผักใบสีเขียวเข้มมีวิตามิน และเกลือแร่หลากหลายชนิดกว่าผักใบสีอ่อน หลักๆ แล้ววิตามินที่พบได้ในผักใบเขียว เช่น วิตามินเอ วิตามินซี และแคลเซียม ซึ่งทีความสำคัญต่อระบบประสาท กระดูก และการสร้างฮอร์โมนในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีกากใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย -
ถั่ว
ไม่ว่าจะเป็นถั่วเฮเซลนัท วอลนัท อัลมอนด์ พีแคน หรือถั่วอะไรก็ตาม ยังคงเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี และยังมีกรดไขมันดีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย -
น้ำมันมะกอก
น้ำมันมะกอกเป็นอาหารที่มีวิตามินอีสูง และยังมีโพลิฟีนอล และไขมันไม่อิ่มตัวที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้อีกด้วย -
โฮลเกรน
โฮลเกรนมีทั้งใยอาหารที่ละลายได้ และละลายไม่ได้ ซึ่งดีต่อร่างกายในแง่ของสารอาหาร และการขับถ่าย และยังเต็มไปด้วยวิตามินบี เกลือแร่ และไฟโตนิวเทรียนท์ ที่มีฤทธิ์ต่อต้านโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้โฮลเกรนยังช่วยลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกาย และป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจ และเบาหวานอีกด้วย -
โยเกิร์ต
โยเกิร์ตเป็นแหล่งอาหารที่เต็มไปด้วยแคลเซียม และโปรตีน และยังมีโพรไบโอติกส์ ที่ปเนแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกาย ช่วยปกป้องร่างกายจากแบคทีเรียที่ไม่ดี และช่วยในการทำงานของระบบขับถ่ายอีกด้วย -
ผักตระกูลกะหล่ำ
ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี บล็อกโคลี่ กะหล่ำดาว กะหล่ำดอก และอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผักที่มีกากใยอาหาร วิตามิน ไฟโตนิวเทรียนท์สูง ซึ่งช่วยต่อต้านโรคติดเชื้อบางชนิด และโรคมะเร็งได้ -
ถั่วเมล็ดแห้ง
ทั้งถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว ล้วนแล้วแต่มีกากใยอาหาร โฟเลต และเป็นพืชที่มีโปรตีนสูง ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ -
มะเขือเทศ
มะเขือเทศมีประโยชน์ทั้งตอนทานสด และตอนปรุงให้สุก มะเขือเทศสดมีวิตามินซีสูง ในขณะที่มะเขือเทศปรุงสุกด้วยความร้อน จะมีไลโคปีนสูง แนะนำผู้หญิงให้ทานมะเขือเทศสดเพื่อรับวิตามินซี ช่วยป้องกันหวัด และบำรุงผิวพรรณ ในขณะที่ผู้ชายให้ทานมะเขือเทศปรุงสุก เพื่อรับไลโคปีน ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก