พิษสุราเรื้อรัง คืออะไร? อันตรายแค่ไหน? ป้องกันอย่างไร?

พิษสุราเรื้อรัง คืออะไร? อันตรายแค่ไหน? ป้องกันอย่างไร?

พิษสุราเรื้อรัง คืออะไร? อันตรายแค่ไหน? ป้องกันอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูจากชื่อโรคก็น่าจะพอเดากันออกว่า โรคพิษสุราเรื้อรัง มีสาเหตุมาจากสุรา แต่ดื่มสุราอย่างไร มากน้อยแค่ไหนถึงเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคนี้อันตรายมากแค่ไหน และวิธีรักษาหรือไม่ Sanook! Health มีคำตอบ

 

พิษสุราเรื้อรัง คืออะไร?

โรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ดื่มสุรา หรือแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ เช่น เบียร์ ไวน์ วิสกี้ ฯลฯ เป็นประจำ จนทำให้มีอาการข้างเคียงอื่นๆ ตามมา หากไม่ได้ดื่มต่อ (นึกถึงคนที่เสพติดยา แล้วจะอยากเสพยาต่อไปเรื่อยๆ)

 

สาเหตุของโรคพิษสุราเรื้อรัง

แน่นอนว่าสาเหตุของโรคพิษสุราเรื้อรัง ย่อมมาจากการดื่มสุรา หรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ แต่สาเหตุของการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจมีได้หลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในจิตใจ

  • ชอบดื่มแอลกอฮอล์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

  • สุขภาพจิตย่ำแย่ อยากปลอดปล่อย จึงหันหน้าเข้าแอลกอฮอล์ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า เครียดจากงาน ครอบครัว เรื่องส่วนตัว ฯลฯ

  • มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ ต้องการเป็นที่ยอมรับจากสังคมรอบข้าง

  • อยู่ในสังคมที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

 

อาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง จะมีอาการผิดปกติเมื่อไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์อย่างที่ต้องการ เช่น

  1. กระวนกระวายใจ อยากกระหาย อยากดื่มแอลกอฮอล์มากจนควบคุมตัวเองไม่ได้

  2. พยายามเลิกดื่มหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

  3. หากหักดิบ พยายามเลิกดื่มทันที อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก มือสั่น แต่อาการทั้งหมดจะหายไปเมื่อได้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทานยานอนหลับ

  4. นานๆ เข้าจะเริ่มดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะปริมาณแอลกอฮอล์เดิมที่เคยดื่ม เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของตัวเอง

  5. มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ เช่น จากเป็นคนใจเย็นกลับกลายเป็นก้าวร้าว จากเป็นคนสุภาพเรียบร้อย กลายเป็นคนพูดคำหยาบ เป็นต้น

 

อันตรายจากโรคพิษสุราเรื้อรัง

หากดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะหลายๆ ส่วนในร่างกายได้ ดังนี้

  1. ระบบย่อยอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ เกิดแผลในหลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร รวมไปถึงร่างกายจะดูดซึมสารอาหาร เกลือแร่ วิตามินที่มาจากอาหารได้น้อยลงด้วย

  2. โรคตับ ทั้งตับแข็ง ตับอักเสบ และไขมันพอกตับ ที่เกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ บวกกับพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสม

    >> "ไขมันพอกตับ" ภัยเงียบของทุกเพศทุกวัย เสี่ยงเป็นมะเร็งตับ-เสียชีวิต

  3. โรคหัวใจ และหลอดเลือด ตั้งแต่ภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจโต หัวใจวาย ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

  4. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกลูโคสของตับ จึงอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ดังนั้นผู้ที่มีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัว จึงควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ เพราะอาจยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลลดลง

  5. พัฒนาการทางเพศผิดปกติ ทั้งสมรรถภาพทางเพศเสื่อมสำหรับผู้ชาย หรือประจำเดือนไม่มา หรือมาไม่ปกติสำหรับผู้หญิง

  6. ภาวะพิการตั้งแต่กำเนิด หากหญิงมีครรภ์ดื่มแอลกอฮอล์ขนาดตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่ทารกที่คลอดออกมาจะอยู่ในสภาวะพิการ หรือมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติได้

  7. กระดูกผิดปกติ อาจมีอาการกระดูกพรุน หรือไขกระดูกที่มีหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย ทำให้ร่างกายมีเกล็ดเลือดน้อยลง จนอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อภาวะเลือดออกมากกว่าปกติ

  8. ระบบประสาท เช่น มือเท้าชา สูญเสียความทรงจำชั่วคราว หรือโรคสมองเสื่อม รวมไปถึงกระบวนการคิดทำงานผิดปกติ

  9. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้ติดเชื้อ และเป็นโรคติดต่อต่างๆ ได้ง่าย

  10. ผลข้างเคียงจากการทานยาระหว่างดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้ฤทธิ์ของยาเสื่อมสภาพ เร่งประสิทธิภาพมากเกินไป หรืออาจเป็นพิษ เป็นอันตรายต่อร่างกายได้

  11. มะเร็ง แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของมะเร็งหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งช่องปาก มะเร็งคอ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม เป็นต้น

  12. มีปัญหาในการดำรงชีวิต ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้พฤติกรรมต่างๆ เปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ที่ทำงาน คนรัก และสังคมทั่วไป เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงาน การเดินทาง เสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม และยังเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจากอาการของโรคซึมเศร้า เป็นต้น

 

การรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง

แน่นอนว่าการรักษาโรคพิษสุราเรื้อรังต้องเริ่มจากการหยุดดื่มแอลกอฮอล์ แต่วิธีการหยุดดื่มให้ได้ผล อาจต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยตรง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน และแน่นอนที่สุด และช่วยลดอาการข้างเคียงต่างๆ รวมไปถึงได้รับการตรวจสภาพร่างกายทั้งภาพนอก และภายในจิตใจอยู่เป็นระยะๆ ด้วย การรับประทานยาที่เหมาะสมก็ช่วยให้การรักษาเป็นไปได้ดีขึ้นในบางรายเช่นกัน

 

การป้องกันโรคพิษสุราเรื้อรัง

การป้องกันจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำได้ง่ายๆ โดยการจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ในการดื่มแต่ละครั้ง

1 ดื่มมาตรฐานของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเท่ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ 10 กรัม เฉลี่ยแล้ว 1 ดื่มอาจเท่ากับเบียร์ 360 มิลลิลิตร ไวน์ 150 มิลลิลิตร และสุรา 45 มิลลิลิตร จากคำแนะนำของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 4 ดื่มมาตรฐาน/วัน ส่วนผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 2 ดื่มมาตรฐาน/วัน

นอกจากนี้การป้องกันการเสพติดแอลกอฮอล์ ควรเริ่มทำตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น วัยที่เริ่มลองดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก โดยเริ่มกำหนดปริมาณที่ดื่มอย่างชัดเจน รู้ระดับการดื่มของตัวเองว่าดื่มได้มากน้อยแค่ไหน หากเริ่มรู้สึกตัวว่าไม่ไหวต้องหยุดตัวเองให้ได้ รับผิดชอบตัวเองด้วยการไม่เมาแล้วทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รวมไปถึงการหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อลดความคิดฟุ้งซ่านที่อยากจะดื่มแต่แอลกอฮอล์ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ชมภาพยนตร์ เล่นดนตรี ท่องเที่ยว เป็นต้น

หากเรารู้ลิมิตของการดื่ม และสามารถควบคุมได้อย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย ไม่ทำร้ายทั้งร่างกายของตัวเอง และคนที่เรารักได้อย่างแน่นอน หากต้องการคำแนะนำในการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา โทร. 1413 หรือเว็บไซต์ http://www.1413.in.th

alcohol1

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook