วิธีป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษในช่วงหน้าฝน

วิธีป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษในช่วงหน้าฝน

วิธีป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษในช่วงหน้าฝน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงหน้าฝนนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ได้รับแจ้งมีเหตุสัตว์มีพิษเข้าบ้านเรือนประชาชนบ่อยครั้ง ทั้งนี้ทางสปภ. จึงได้ให้บางข้อมูลแนะนำเกี่ยวกับวิธีป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย เนื่องจากสัตว์มีพิษชนิดเป็นสัตว์ที่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง แมงมุม ผึ้ง ต่อ แตน และมดคันไฟ เป็นต้น

 

วิธีป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษในช่วงหน้าฝน

  1. หมั่นตัดหญ้าอยู่เสมอ ใส่ตะแกรงท่อระบายน้ำทุกอัน ป้องกันไม่ให้งูเลื้อยขึ้นจากท่อระบายน้ำ โรยปูนขาวไว้รอบๆ บริเวณบ้าน เพื่อป้องกันมิให้งูเลื้อยเข้ามา หากเจองูเข้าโดยบังเอิญให้ตั้งสติดีๆ ให้ยืนนิ่งๆ ดูท่าที เพราะส่วนใหญ่เมื่องูพบคนจะเลื้อยหนีไปเอง ไม่ควรตีหรือพยายามจับงูด้วยตนเอง ซึ่งตามปกติแล้วงูมักจะไม่เข้ามาทำร้ายถ้าไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ควรทิ้งเศษขยะและเศษอาหารในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูและแมลง ซึ่งจะเป็นการสร้างห่วงโซ่อาหารให้งู ตะขาบ และแมงป่องได้

  2. อุดรูที่พื้นและผนังที่แตกร้าวหรือเป็นช่อง โดยเฉพาะในห้องน้ำที่มีความชื้นสูง รวมถึงพื้นที่ที่แดดส่องไม่ถึง ซึ่งอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ร้าย และดูแลพื้นที่บริเวณรอบบ้านอย่าปล่อยให้รกร้าง อย่าให้มีพื้นที่กดทับของสิ่งของ อาทิ ก้อนหิน กระถางต้นไม้ หรือโพรงดิน หากมีการปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน ควรตัดแต่งให้ไม่ให้รกรุงรัง พร้อมกับกำจัดเศษใบไม้ใบหญ้าทุกครั้ง ไม่ควรกองทิ้งไว้เพราะจะทำให้เป็นที่อาศัยของสัตว์และแมลงมีพิษได้

  3. หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานในที่รก หากจำเป็นต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายจากการถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย ควรแต่งกายให้มิดชิด และสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ท หน้ากาก ถุงมือ หมวกคลุมศีรษะ เป็นต้น ทั้งนี้หากจำเป็นต้องเข้าไปในที่รกร้าง อับชื้น ให้ใช้ไม้ตีตามจุดต่างๆ เพื่อให้สัตว์เหล่านี้ตกใจหนีไป และหลีกเลี่ยงการเก็บกวาด หรือทำความสะอาดในเวลากลางคืนถ้าแสงไฟไม่เพียงพอ แต่หากมีความจำเป็นให้ใช้ไฟฉายช่วยเพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ

  4. ดูแลความสะอาดบริเวณที่จะเป็นแหล่งอาหารของมด และไม่ควรทิ้งภาชนะที่ใส่อาหารไว้โดยไม่ทำความสะอาดก่อน ใช้ปูนขาวใส่ภาชนะรองที่ขาตู้และหากพบมดไต่ขึ้นมาตามรอยแตกร้าวของคอนกรีต ให้ใช้น้ำมันก๊าดเทลงไปในร่อง กรณีที่พบรังมดให้ใช้น้ำที่แช่หน่อไม้สดหรือหน่อไม้ดองเปรี้ยว ราดไปที่รังมดจะอพยพไปอยู่ที่อื่นทันที แต่ถ้าต้องการกำจัดให้หมดสิ้นไป ให้ใช้การบูรและยาสูบอย่างละ 1 ส่วน นำไปใช้ตั้งไฟให้เดือด จากนั้นเอาไปราดที่รังมดก็จะตายและไม่กล้ามาทำรังอีก

  5. เมื่อเห็นรังผึ้ง ต่อ แตน อย่าเข้าไปใกล้ และอย่านำสิ่งของใดๆ ขว้างปาใส่รัง เพราะจะทำให้มันบินมากัดต่อยได้  ไม่ใส่เสื้อผ้าสีสดใส หรือน้ำหอมในบริเวณที่สัตว์เหล่านี้อยู่ เพราะจะดึงดูดสัตว์เหล่านี้มาไต่ตอม เสี่ยงต่อการถูกกัดต่อย สอนให้เด็กรู้จักป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์เหล่านี้กัดต่อยด้วย เช่น เวลาไปเล่นที่สนามหญ้า ให้สังเกตดูว่ามีสัตว์พวกนี้อยู่ในบริเวณดังกล่าวหรือไม่

 

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย

  1. หากถูกงูพิษกัด พยายามอย่าขยับอวัยวะที่ถูกงูกัด เพราะการเคลื่อนไหวจะเร่งให้พิษกระจายไปตามร่างกายได้เร็วขึ้น จากนั้นให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดหยุ่น พันตั้งแต่เหนือรอยแผลที่โดยกัด ไปจนถึงเหนือข้อต่อของแขนหรือขา และต้องคลายผ้าทุกๆ 15-20 นาที เพื่อป้องกันส่วนปลายขาดเลือด และรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

  2. การดูแลเบื้องต้นเมื่อถูกตะขาบกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่นาน 30 วินาที แล้วใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบ เพื่อช่วยลดอาการปวดบวม หรือรับประทานยาแก้ปวดเมื่อรู้สึกปวด ทว่าหากมีอาการแพ้พิษตะขาบมาก ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

  3. เมื่อถูกแมงป่องต่อย ให้ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นประคบแผลด้วยผ้าห่อน้ำแข็ง เพื่อบรรเทาอาการปวดและให้เส้นเลือดหดตัว ซึ่งจะช่วยให้พิษกระจายตัวได้ช้าลง จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์

  4. หากถูกแมงมุมกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและประคบเย็นรอบๆ แผล เมื่อมีอาการบวมแดงห้ามบีบเค้นแผลเด็ดขาด และรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้นำแมงมุมไปที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อให้แพทย์ทราบชนิดของแมงมุมที่กัด และให้การรักษาที่ถูกต้อง

  5. หากโดนแมลงสัตว์กัดต่อย ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ จากนั้นทายาหม่องให้ทั่วแผล และคอยสังเกตอาการบ่อยๆ หากอาการกำเริบเกินจะรักษาได้ในเบื้องต้น ให้พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ในทันที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook