ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย VS ดื่มเล็กน้อย แบบไหนดีต่อสุขภาพมากกว่ากัน?
แอลกอฮอล์อย่างเหล้า เบียร์ ไวน์ วิสกี้ และอื่นๆ แม้ว่าจะมีผลงานวิจัยบอกว่าการจิบเล็กน้อยส่งผลดีต่อสุขภาพได้ แต่หากเปรียบเทียบกับการไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย อย่างไหนจะส่งผลดีต่อร่างกายได้มากกว่ากัน
Robert H. Shmerling บรรณาธิการประจำ Harvard Health Publishing ระบุว่า ความสัมพันนธ์ระหว่างสุขภาพของมนุษย์ กับแอลกอฮอล์เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน แม้ว่าจะมีรายงานการวิจัยหลายชิ้นพิสูจน์ว่า แอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อย หรือปริมาณที่พอเหมาะ สามารถเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ แต่หากเราไม่ทราบปริมาณที่พอดี แล้วดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป แน่นอนว่าย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้นจุดสำคัญจึงอยู่ที่ปริมาณที่พอดีต่อร่างกายมันอยู่ตรงไหน? และหากเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการที่เราไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย แบบไหนดีต่อร่างกายมากกว่ากัน?
ผลงานวิจัยล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Medicine พบว่า สำหรับผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป การดื่มเล็กน้อย (ราว 1-4 แก้วต่อสัปดาห์) มีความเกี่ยวพันกันกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย
ในเดือนสิงหาคม 2018 มีรายงานวิจัย 2 ชิ้น ชิ้นแรกตีพิมพ์ลงในวารสาร The Lancet ระบุว่า ปริมาณการดื่มที่เคยมีการแนะนำว่าให้ดื่ม 1 แก้วต่อวันหรือน้อยกว่านั้นสำหรับผู้หญิง และ 2 แก้วต่อวันหรือน้อยกว่านั้นสำหรับผู้ชาย เป็นปริมาณที่มากเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ผลงานวิจัยชิ้นที่ 2 มีการตรวจสอบข้อมูลจากหลายร้อยงานวิจัย และรวบรวมข้อมูลอื่นๆ มาวิเคราะห์ร่วมกัน ทั้งยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ทำเอง รวมไปถึงปริมาณการดื่มของนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยในพื้นที่มากกว่า 195 แห่ง พบว่า แอลกอฮอล์สามารถส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพร่างกายโดยรวมได้ ตั้งแต่โรคหัวใจ มะเร็ง โรคติดเชื้อ อุบัติเหตุบนท้องถนน และการเสียชีวิต จึงมาถึงบทสรุปที่ว่า การไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยจะเป็นผลดีต่อร่างกายมากกว่า เนื่องมาจาก
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุอันดับที 7 ของการเสียชีวิต และพิการทั่วโลกในปี 2016 ราว 2% ของผู้หญิงและ 7% ของผู้ชายที่เสียชีวิตทั้งหมด (ราว 8 ล้านคน) มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต และพิการของคนทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 15-49 ปี โดยสาเหตุหลักๆ ของการเสียชีวิตได้แก่ โรควัณโรค อุบัติเหตุบนท้องถนน และการบาดเจ็บจากการทำร้ายร่างกาย (ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น หากมีแอลกอฮอล์มาข้องเกี่ยวด้วย)
- ผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป มีสาเหตุหลักอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์
- โดยทั่วไปแล้ว สุขภาพของร่างกายจะแย่ลงหากพบว่ามีอาการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีรายงานพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์เล็กน้อย (น้อยกว่า 1 แก้วต่อวัน) สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอันตรายบางชนิดอย่างโรคหัวใจ และเบาหวานได้ เช่น ผู้ชายที่ดื่ม 8 แก้ว (น้อยกว่า 1 แก้วเต็มๆ) ต่อวัน และผู้หญิงที่ดื่ม 0.9 แก้วต่อวัน พบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจวาย และหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ น้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม 14% และ 18% ตามลำดับ แต่ท้ายที่สุดแล้ว หนทางที่ปลอดภัย และดีต่อร่างกายมากที่สุด คือการไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยจะดีกว่า
เราควรเลิกดื่มถาวรเลยดีไหม?
เมื่อการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียมากกว่าผลดีอย่างเห็นได้ชัด การหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์โดยสมบูรณ์ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดี เพียงแต่ในบางสังคม แอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขาเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การควบคุมปริมาณในการดื่ม และระมัดระมังตัวเองไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เช่น การเลือกดื่มเฉพาะบางโอกาส เลือกดื่มในปริมาณน้อยๆ ไม่ปล่อยให้ตัวเองเมามายจนไร้สติ หรือไม่ดื่มจนติดเป็นนิสัย หรือทำร้ายใคร รวมถึงไม่มีปัญหาสุขภาพอะไรให้ต้องกังวล หากปฏิบัติได้ตามนี้ก็ยังสามารถดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปได้
แต่อย่าลืมว่า เมาไม่ขับ เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจประสบอุบัติเหตุจนเรา หรือคนอื่นเสียชีวิตได้ จะดื่มต้องมีสติอยู่เสมอ