8 สัญญาณอันตราย “ซึมเศร้า” ในวัยรุ่น ไม่ได้มีแค่อาการ “เศร้า” เพียงอย่างเดียว

8 สัญญาณอันตราย “ซึมเศร้า” ในวัยรุ่น ไม่ได้มีแค่อาการ “เศร้า” เพียงอย่างเดียว

8 สัญญาณอันตราย “ซึมเศร้า” ในวัยรุ่น ไม่ได้มีแค่อาการ “เศร้า” เพียงอย่างเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อสังคมไทยเริ่มตื่นตัว และทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น ระยะหลังมานี่จึงเริ่มเห็นทั้งตัวผู้ป่วยเอง และญาติของผู้ป่วยเดินทางมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยตนเอง ไม่ทนเจ็บปวดอยู่คนเดียว เพราะอาย และกลัวสังคมไม่ยอมรับอีกต่อไป แต่ในวัยรุ่นยังคงเป็นปัญหาที่เด็กหลายคนไม่อยากยอมรับว่าตัวเองกำลังมีปัญหาสภาพจิต เพราะไม่อยากถูกมองในแง่ลบ หรือกลัวเพื่อนที่โรงเรียนล้อ ดังนั้นคนใกล้ตัวอย่างเราจึงควรสังเกตพฤติกรรมของพวกเขา ที่ไม่ได้มีแค่อาการซึมเศร้าให้เราเห็นเท่านั้น

  1. เกรดตก

แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกรดตกของวันรุ่นวัยเรียนจะมีหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากปัญหาในการเรียนรู้ของตัวเด็กเอง โรคสมาธิสั้น ถูกรังแก หรือมีการใช้ยาเสพติดเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งการติดเพื่อน ติดเกม ฯลฯ แต่หากเด็กไม่มีทีท่าที่จะติดเพื่อน หรือติดเกม ควรสงสัยถึงความเป็นไปได้ในเรื่องของอาการซึมเศร้าดูบ้าง

 

  1. ฉุนเฉียว โมโหง่าย

อารมณ์โมโหเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากรู้สึกว่าอะไรนิด อะไรหน่อยก็โกรธ โมโห ขึ้นเสียงสูง เสียงดัง โดยมีพฤติกรรมที่เห็นเด่นชัดมากกว่าที่เคยเป็นมาแต่ก่อน อาจลองสงสัยถึงประเด็นโรคซึมเศร้าได้

 

  1. ขี้เบื่อ เหนื่อยหน่าย อารมณ์บูดบึ้ง

จากที่เคยมีสิ่งที่ชอบ ที่เห็นทุกครั้งก็ตื่นเต้นดีใจ กลับกลายเป็นคนที่นิ่งเฉยไร้อารมณ์ทุกสถานการณ์ แม้กระทั่งกับสิ่งที่เคยชอบ เคยตื่นเต้นมาก่อน นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ชัดเจนที่ควรสังเกต

 

  1. เลิกทำกิจกรรมที่เคยทำอยู่

หากเคยเป็นเด็กที่ชอบเล่นกีฬา หรือมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับเพื่อนอยู่ตลอดเวลา แต่กลับเลิกกิจกรรมนั้นไปดื้อๆ แม้ว่าความสนใจของคนเราอาจเปลี่ยนไปกันได้ แต่หากเด็กหยุดเล่นกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่เคยทำอยู่ประจำไปกลางคัน โดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม หรือไม่มีกิจกรรมอื่นๆ มาดึงความสนใจของเขาไป อาจสงสัยเรื่องซึมเศร้าได้

 

  1. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง

อาจทะเลาะกับเพื่อนสนิทที่โรงเรียน ทะเลาะกับพ่อแม่พี่น้อง และคนที่เคยสนิทสนมด้วยคนอื่นๆ หรืออาจใช้เวลากับคนเหล่านั้นน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นสัญญาณของอาการซึมเศร้าได้

 

  1. พฤติกรรมอันตราย

หากเริ่มเห็นเด็กมีพฤติกรรม หรือพูดอะไรแปลกๆ ที่เกี่ยวข้องกับอันตราย เช่น พูดหรือจับมีด ดูคลิปการใช้ปืน ถามถึงยาที่ทานแล้วเสี่ยงเสียชีวิต หรือชอบไปยืนในที่สูงๆ การสอบถามเพื่อความอยากรู้อยากเห็นอาจเคยพบเห็นบ้าง แต่หากเป็นพฤติกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้น อาจส่อเค้าอันตรายที่ส่งผลไปถึงการทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตายได้

 

  1. มีอาการเจ็บปวดทางร่างกายตลอดเวลา

เด็กๆ สามารถมีอาการปวดหัวปวดท้องได้ตามปกติ แต่หากในระยะหลังเด็กบ่นว่าปวดหัว ปวดท้องบ่อยครั้งมากเกินไป บางครั้งอาจไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้าง อาการเจ็บปวดทางร่างกายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับจิตใจด้วย เด็กอาจรู้สึกเจ็บปวดตามร่างกายขึ้นมาจริงๆ โดยที่ไมได้มีสิ่งผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นควรพาไปตรวจเช็กร่างกายที่โรงพยาบาล หากร่างกายไม่ผิดปกติอะไร อาจสอบถามแพทย์เพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการเป็นโรคซึมเศร้า

 

  1. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

ไม่ว่าจะเป็นอาการเหนื่อยง่ายจากอาการอ่อนเพลียที่ทานอาหารน้อยลง พักผ่อนน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย หรืออะไรก็แล้วแต่ หากมีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด ไม่ร่าเริงแจ่มใส หรือไม่ยอมลุกขึ้นเดินไปไหนมาไหนเหมือนเคย แม้ว่าอาการอ่อนเพลียจะมีหลายสาเหตุ แต่โรคซึมเศร้าก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นเดียวกัน

 

นอกจากการเข้าไปสอบถามพูดคุยเพื่อให้เขาเปิดใจแล้วยอมเผยความรู้สึกของเขาออกมาตรงๆ แล้ว เราต้องให้ความช่วยเหลือเด็กๆ อย่างถูกวิธี อย่าแนะนำให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ และแก้ไขไม่ตรงจุด เช่น บังคับให้ทำกิจกรรมที่เขาไม่ชอบ ผลักเขาเข้าสู่สังคมที่เขาไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ควรพาเขาไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาอย่างถูกต้อง ภายใต้การดูแลจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด รับยามาทานในกรณีที่จำเป็น เพราะซึมเศร้าเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา เรารักษาเขาเองไม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook