เตือน! หน้าฝนนี้ “ไข้ปวดข้อยุงลาย” (ชิคุนกุนยา) ระบาดหนัก
จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (โรคชิคุนกุนยา) ในปี 2561 นี้ พบว่ามีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 355 ราย พื้นที่ที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือภาคใต้ รองลงมาคือภาคกลาง สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จ.สตูล นราธิวาส สงขลา กระบี่ และตรัง
จากข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงเกินกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กรมควบคุมโรค จึงได้พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ ว่าในช่วงนี้คาดจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและมีฝนตกต่อเนื่องทั่วทุกภาคของประเทศไทย อาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ทำให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ที่เป็นพาหะของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา
ไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) คืออะไร?
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ติดต่อมาสู่คนได้โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะนำโรค โดยยุงตัวเมียซึ่งกัดเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร จะกัดดูดเลือดผู้ป่วยซึ่งในระยะไข้สูงจะเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ยุง เพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลายพร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดในครั้งต่อไป ซึ่งระยะฟักตัวในยุงนี้ประมาณ 3-5 วัน
การติดต่อของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา)
เมื่อยุงที่กัดดูดเลือกผู้ป่วยที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด ไปกัดคนอื่นต่ออีก ยุงก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนและผ่านระยะฟักตัวนานประมาณ 2-12 วัน (ที่พบบ่อย คือ 3-7 วัน) ก็จะทำให้เกิดอาการของโรค
จากการวิจัยพบว่ายุงสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสจากแม่ยุงไปยังลูกได้หลายรุ่น จึงควรป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดตลอดเวลา และแม้บริเวณใกล้เคียงไม่มีรายงานผู้ป่วยแต่ท่านอาจติดเชื้อจากยุงได้เนื่องจากผู้ที่ได้รับเชื้อบางคนไม่แสดงอาการ แต่แพร่เชื้อไวรัสได้ จึงไม่ควรประมาทเนื่องจากโรคนี้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เพียงเฉพาะเด็ก
อาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา)
- มีไข้สูงมากถึง 40 องศา อย่างฉับพลัน
- มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย
- พบอาการตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว
- ปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (ในเด็กจะพบอาการหนักน้อยกว่าผู้ใหญ่)
- หากอาการปวดข้อรุนแรงมาก จะทำให้บางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
ความแตกต่างระหว่างไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และติดเชื้อไวรัสซิกา
โรคไข้เลือดออก มักจะมีอาการมีไข้สูง และปวดกล้ามเนื้อรุนแรง อาจมีอาการรุนแรงแทรกซ้อนเมื่อไข้เริ่มลดซึ่งอาจมีสัญญาณเตือน เช่น เลือดออก อาจพบอาการช็อกจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย มีอาการมีไข้สูง และอาการปวดข้อรุนแรงที่มือ, เท้า, หัวเข่า และหลัง จนอาจไม่สามารถดำเนินกิจกรรมตามปกติได้ และไม่พบอาการช็อก
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ยังไม่มีลักษณะที่ชัดเจน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีผื่นที่ผิวหนัง และบางส่วนมีเยื่อบุตาอักเสบ
วิธีป้องกันยุงลาย สาเหตุของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา)
- ปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาปิดขนาดพอเหมาะ เช่น ผ้ามุ้ง ผ้ายาง ผ้าพลาสติก ฯลฯ มีข้อสังเกตว่า การปิดภาชนะไม่มิดชิด มีส่วนที่ยุงลายสามารถผ่านเข้าออกได้นี้ยุงลายชอบไปวางไข่มากกว่าภาชนะที่เปิด เพราะมีเงามืด
- การเปลี่ยนน้ำในแจกันประดับต่างๆ ทุก 5 วัน
- การคว่ำภาชนะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อมิให้รองรับน้ำ
- การเผา ฝัง ทำลาย หรือกลบทิ้งเศษวัสดุที่อาจเป็นที่รับน้ำซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้
- ใช้สารเคมี เช่น ทรายอะเบท ซีโอไล้ท์เคลือบที่มีฟอส เอซายเอส เอส ซึ่งศึกษาแล้วว่าป้องกันลูกน้ำได้ประมาณ 3 เดือน สารกำจัดแมลงชนิดอื่น เช่น มอสแทบ น้ำส้มสายชู ผงซักฟอก ปูนแดง สารส้ม ต้องใส่ซ้ำทุกครั้งที่พบลูกน้ำยุง จึงจำเป็นต้องตรวจดูลูกน้ำทุกสัปดาห์
- พ่นผลิตภัณฑ์อัดแก๊สสำหรับยุงโดยเฉพาะ เจ้าของบ้านดำเนินการได้เองโดยพ่นบริเวณมุมอับของห้อง ใต้โต๊ะเตียง บริเวณห้อยแขวนเสื้อผ้า ปิดห้องทิ้งไว้สิบห้านาที
- นอนในมุ้ง ใช้มุ้งหรือเต้นท์ชุบน้ำยากันยุง นอนในบ้านที่ติดมุ้งลวด
- ใส่เสื้อผ้ามิดชิดหรือเสื้อเคลือบสารป้ องกันยุง เมื่อเข้าไปในบริเวณที่มียุงชุกชุมนอกบ้าน
- ใช้สารทาป้องกันยุงที่ทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพดี
- ใช้ยาจุดกันยุง
- ใช้เครื่องไล่ยุง หรือใช้ไม้ตียุงไฟฟ้า