3 อันตรายที่คาดไม่ถึง จากการนั่ง-เดิน-ยืนหลังงอ
ในช่วง 2-3 เดือนให้หลังมานี้ เห็นเหล่าผองเพื่อนวัยทำงานเช็กอินโรงพยาบาลกันเป็นว่าเล่น เช็กอินที่เดิมบ่อยๆ จนสงสัยว่าป่วยเรื้อรังอะไรหรือเปล่า ก็ได้คำตอบว่ามาทำ “กายภาพบำบัด” จากการเป็น “ออฟฟิศซินโดรม” ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจนลามไปถึงกระดูก ตั้งแต่คอ บ่า ไหล่ ไล่ไปจนถึงกลางหลัง เอว สะโพก และอาจไปถึงข้อเข่า ข้อเท้าได้เลยทีเดียว
สาเหตุอันดับต้นๆ ของอาการออฟฟิศซินโดรมแบบปวดเมื่อยเรื้อรังแบบนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากการวางท่านั่ง ท่าเดิน หรือท่ายืนระหว่างทำงานเป็นเวลานาน รวมไปถึงการก้มหน้าใช้โทรศัพท์มือถือ แต่นอกจากอาการปวดเมื่อยเรื้อรังจนต้องทำกายภาพบำบัดแล้ว ยังมีอันตรายที่แอบซ่อนอยู่อีก 3 ประการที่คุณอาจไม่ทราบมาก่อนว่าเกิดจากการนั่ง เดิน และยืนผิดท่านานๆ
-
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
การนั่ง และยืนผิดท่านานๆ อาจทำให้เกิดอาการควบคุมการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ สังเกตได้จากการที่มีปัสสาวะเล็ดออกมาเมื่อหัวเราะ หรือจาม “การนั่ง เดิน หรือยืนหลังงอ ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง ซึ่งส่งผลไปถึงการเกิดแรงดันในกระเพาะปัสสาวะได้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานลดความสามารถในการต้านแรงดันในช่องท้องได้อีกด้วย จึงเป็นเหตุให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้” Meghan Markowski นักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลหญิง Brigham ในเครือมหาวิทยาลัย Harvard อธิบายถึงสาเหตุของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จากการนั่ง และยืนผิดท่า
-
ท้องผูก
หากคุณนั่งบนโถส้วมชักโครกโดยให้หัวเข่าอยู่ในระดับต่ำกว่าสะโพก อาจทำให้เสี่ยงต่ออาการท้องผูกได้ “ท่านั่งแบบนั้นเป็นการปิดรูทวาร และทำให้กล้ามเนื้อช่องท้องทำงานหนักขึ้นเพื่อพยายามจะบีบเอาอุจจาระออกมา” สังเกตว่าตัวเองมีอาการท้องผูกหรือไม่ก็ง่ายๆ หากมีอุจจาระที่มีลักษณะแข็ง แห้ง อุจจาระข้างที่รูทวาร หรือรู้สึกเหมือนอุจจาระไม่สุด ไม่หมด แสดงว่ากำลังประสบปัญหาท้องผูก
-
จุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
หากนั่ง และยืนงอหลัง หลังจากทานอาหารเสร็จ อาจเป็นการเร่งให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด หรืออาหารไม่ย่อยได้ (อาจทำให้น้ำย่อยไหลไปสู่หลอดอาหารได้) “การนั่ง เดิน หรือยืนหลังงอ อาจทำให้เกิดแรงดันในท้องน้อย ที่อาจทำให้น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารถูกดันไปทิศทางอื่นได้” Dr. Kyle Staller แพทย์โรคทางเดินอาหาร ที่โรงพยาบาล Massachusetts General ในเครือมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอธิบาย “และยังมีหลักฐานพบว่า การลำเลียงของเหลวในลำไส้ทำได้ช้าลงเมื่อเรานั่ง เดิน หรือยืนหลังงอ”
วิธีแก้ไขปัญหานั่ง เดิน ยืนผิดท่า
- พยายามบังคับตัวเองให้นั่ง เดิน และยืนหลังตรงตลอดเวลา
- จัดเก้าอี้ โต๊ะ ให้ถูกองศา คอตั้งหน้าตรงเพื่อมองจอคอมพิวเตอร์ แขนวางตั้งฉากกับพื้นเมื่อต้องวางมือพิมพ์คีย์บอร์ด
- ไม่เอนไปข้างหน้า เอนไปข้างหลัง หรือก้มหน้าติดจอเวลาใช้โทรศัพท์มือถือ
- สวมรองเท้าที่ยืน และเดินสบาย ส้นไม่สูงเกินไป
- เปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายทุกๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
- นั่งถ่ายด้วยท่าที่ให้หัวเข่าอยู่เหนือสะโพก หากนั่งส้วมชักโครกสามารถหาเก้าอี้เตี้ย หรือกล่องมาเหยียบขณะนั่งขับถ่ายได้
- หากสงสัยว่าตัวเองอาจกำลังนั่ง เดิน หรือยืนผิดท่าโดยไม่รู้ตัว และบังคับตัวเองไม่ค่อยได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ